NASA เตรียมส่งหุ่นยนต์-เฮลิคอปเตอร์ สำรวจดาวอังคาร 20 ก.ค.นี้

Logo Thai PBS
NASA เตรียมส่งหุ่นยนต์-เฮลิคอปเตอร์ สำรวจดาวอังคาร 20 ก.ค.นี้
NASA ประกาศเตรียมปล่อยจรวดเพื่อส่งหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) และ เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี (Ingenuity) ลงสำรวจดาวอังคาร วันที่ 20 ก.ค.นี้ เวลา 20.15 น. ตามเวลาประเทศไทย หวังค้นหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาเทคโนโลยีการบินบนดาวอังคาร

วันนี้ (14 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ประกาศกำหนดการปล่อยจรวดเพื่อส่ง “Mars 2020 Rover” หรือ “เพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance)” มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร ในวันที่ 20 ก.ค.2563 เวลา 20.15 น. ตามเวลาประเทศไทย

รถหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนส์จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ณ ฐานปล่อยยานอวกาศ SLC-41 แหลมคานาเวอรัล สหรัฐอเมริกา ด้วยจรวด Atlas V 541 ซึ่งเป็นจรวดรุ่นเดียวกับที่เคยใช้ส่งรถหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคาร “คิวริออซิตี (Curiosity)” ในปี พ.ศ.2554 ในครั้งนี้นอกจากจะ เป็นการส่งรถหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารในรอบ 9 ปีของนาซาแล้ว ยังเป็นภารกิจแรกที่จะส่ง “เฮลิคอปเตอร์” ไปสำรวจดาวอังคาร

ภาพ : AFP PHOTO / NASA

ภาพ : AFP PHOTO / NASA

ภาพ : AFP PHOTO / NASA


มาร์ส เฮลิคอปเตอร์ (Mars Helicopter) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “อินเจนูอิตี (Ingenuity)” หมายถึง “ความเฉลียวฉลาด” ตั้งชื่อโดย Vaneeza Rupani นักเรียนระดับชั้นมัธยมจากรัฐอลาบามา ที่ชนะการประกวดเขียนเรียงความ "Name the Rover"

อินเจนูอิตีเป็นเฮลิคอปเตอร์สำรวจขนาดเล็ก มีน้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกรัม มีใบพัดคู่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 เมตร ออกแบบมาให้หมุนตรงกันข้ามและหมุนด้วยความเร็ว 3,000 รอบต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าเฮลิคอปเตอร์ทั่วไปบนโลกถึง 10 เท่า ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium-Ion Battery) สามารถชาร์จใหม่ได้จากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดอยู่บนใบพัด

ทีมนักวิจัยออกแบบให้อินเจนูอิตีสามารถบินได้เองอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและความลำบากสำหรับการควบคุมระยะไกล เนื่องจากชั้นบรรยากาศที่เบาบางของดาวอังคารทำให้ สามารถบินที่ระดับความสูงไม่เกิน 5 เมตรจากจากระดับพื้นผิวดาวอังคาร และจะบินเป็นระยะทางสั้นๆ ไม่เกิน 300 เมตรเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังติดตั้งกล้องความละเอียดสูงเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการบิน การลงจอด การสำรวจภูมิประเทศมุมสูง การสำรวจในพื้นที่ที่การสำรวจภาคพื้นดินไม่สามารถเข้าถึงได้ การค้นหาแหล่งทรัพยากรณ์ธรรมชาติ และส่งข้อมูลกลับมายังโลก

ทั้งนี้ เพอร์เซเวียแรนส์และอินเจนูอิตีจะเดินทางถึงดาวอังคารในวันที่ 18 ก.พ. พ.ศ. 2564 ลงจอด ณ หลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero Crater) โดยที่เฮลิคอปเตอร์จิ๋วลำนี้จะบรรจุอยู่ในรถหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนส์ที่จะทำหน้าที่ค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสมก่อน จึงจะปล่อยให้อินเจนูอิตีเริ่มบินได้ เบื้องต้น นาซาวางแผนให้อินเจนูอิตีมีระยะเวลาภารกิจ 30 วัน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน เฮลิคอปเตอร์ลำนี้จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการบินบนดาวอังคาร ที่อาจเป็นส่วนสำคัญในภารกิจส่งมนุษย์คนแรกไปยังดาวอังคารในอนาคต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง