วันนี้ (25 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 4 หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมเจ้าท่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บ้านปูเน็กซ์ บริษัทลูกของบริษัท บ้านปูจำกัด (มหาชน) และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงด้านการพัฒนาการออกแบบ การผลิต และมาตรฐานสำหรับเรือไฟฟ้าที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำ และส่งเสริมการพาณิชยนาวี เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเรือไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศและนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงช่วยประหยัดพลังงาน ยังช่วยลดมลพิษทางน้ำและทางอากาศในระยะยาว อีกทั้งมีส่วนช่วยคืนความยั่งยืน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่าตั้งเป้าหมายที่จะเปิดตัวเรือไฟฟ้าต้นแบบ 1 ลำ ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า โดยการประกอบเรือต้นแบบมีความคืบหน้าไปมา โดยการประกอบใช้อลูมิเนียมเป็นวัสดุหลัก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบไฟฟ้าให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับข้อดีของการนำเรืออลูมิเนียมไฟฟ้ามาให้บริการนี้จะช่วยลดเวลาประกอบเรือ ซึ่งเรืออลูมิเนียมใช้เวลาเพียง 2 เดือน แตกต่างกับการประกอบเรือไม้ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมทั้งวัสดุอลูมิเนียมนั้นจะมีความคงทนในระยะ 20 ปี ทำให้ต้นทุนในการบำรุงรักษาจะต่ำมาก
เรืออลูมิเนียมพลังงานไฟฟ้า ลำละ 40 ล้านบาท
ส่วนการนำพลังงานไฟฟ้ามาติดตั้งกับเรือนั้น แม้ขณะนี้แบตเตอรี่จะมีราคาที่สูงอยู่ แต่เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ราคาจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้การประกอบเรืออลูมิเนียมพลังงานไฟฟ้าลำนึงจะใช้ต้นทุนประมาณ 40 ล้านบาท และเรือ 1 ลำ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 100 คน ใกล้เคียงกับเรือที่ใช้วัสดุไม้ โดยหลังจากเรือต้นแบบแล้วเสร็จในอนาคตหากผู้ประกอบการเรือโดยสารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา หรือเรือด่วนคลองแสนแสบ ก็สามารถว่าจ้างผลิตเพื่อนำเรืออลูมิเนียมไฟฟ้ามาให้บริการแก่ประชาชนได้
ความร่วมมือการพัฒนาการผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทย เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานะบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีของไทย
ขณะที่นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินงานกิจกรรมด้านยานพาหนะไฟฟ้มามากกว่า 10 ปี โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่พร้อมระบบส่วนควบ เช่น ระบบระบายความร้อน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับอนุติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง ขณะเดียวกัน สวทช. ยังเดินหน้าวิจัยและพัฒนามอเตอร์พร้อมระบบควบคุม โดยมองหาเทคโนโลยีมอเตอร์แบบใหม่ ๆ ที่เหมาะสำหรับการผลิตในประเทศ ระบบ OT ระบบสมาร์ท รวมถึงการออกแบบและวิเคราะห์โครงสร้างต่าง ๆ สำหรับยานพาหนะไฟฟ้าที่ต้องมีน้ำหนักเบา เพื่อลดการใช้พลังงานและมีความปลอดภัยสูง ซึ่ง สวทช. มีทีมวิจัย และบริการที่มีประสบการณ์ในการพัฒนามาตรฐาน ทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ ทั้งยังมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมมากมาย เช่น การออกมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้า และเทคโนโลยี OT เช่น มาตรฐานด้านเต้ารับเต้าเสียบ สถานีอัดประจุต่าง ๆ