กว่าจะเป็น "นักดมกลิ่น" ผู้ใช้ "จมูก" แก้ปมมลพิษ

สังคม
23 ก.ค. 63
14:15
5,209
Logo Thai PBS
กว่าจะเป็น "นักดมกลิ่น" ผู้ใช้ "จมูก" แก้ปมมลพิษ
มาตรฐานเกณฑ์วัดมลพิษอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เปิดภารกิจ "นักดมกลิ่น" ผู้ใช้จมูกและความรู้สึกคลายปมมลพิษสิ่งแวดล้อม ลดความขัดแย้งชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรม

กลิ่นรบกวนจากสถานประกอบการ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ น้ำเน่าเสีย เป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นลำดับต้นๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และกลายเป็นประเด็นขัดแย้งในหลายพื้นที่

สิ่งแวดล้อมรอบสถานประกอบการเหล่านี้ ทั้งขยะ น้ำเสีย ล้วนแต่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน เพื่อบังคับใช้ให้ปฎิบัติตามอย่างชัดเจน แต่เรื่องของ "กลิ่น" ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ

บางครั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน การใช้ตัวเลขมาตัดสินอาจไม่ตอบโจทย์ เหล่านี้เป็นเรื่องของ "ความรู้สึก" ที่อาจยากที่จะกำหนดว่า ระดับไหน จึงจะถูกมองว่าสร้างปัญหา หรือผลกระทบ

การกำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553 และคณะกรรมการควบคุมมลพิษ มีประกาศวิธีตรวจวัดโดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม (Sensory Test) มาตั้งแต่ปี 2554

น.ส.อรวรรณ มานูญวงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ ห้องปฏิบัติการตรวจวัดกลิ่นด้วยการดม นำผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ไปทำความรู้จักกับ มนุษย์ดมกลิ่น หรือ ผู้ทดสอบกลิ่น (Panelist) ทำหน้าที่ตรวจค่าความเข้มของกลิ่น อาชีพที่ใครหลายคนไม่คุ้นเคย แต่อาชีพนี้มีมาตั้งแต่ปี 2556 และมีอาสาสมัครทดสอบกลิ่นมาแล้วกว่า 10 รุ่น

ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกลิ่นเหม็น ประมาณ 40 % จากอู่ซ่อมสีรถยนต์ กลิ่นจากสถานประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งกลิ่นจากผลิตผลทางการเกษตร และบ่อขยะ

ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การกำหนดมาตรฐาน แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นที่ถูกร้องเรียน เคยมีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แต่ระดับตัวเลขที่ตรวจวัดได้ มันไม่สามารถตอบสนองถึงการรับรู้กลิ่น หรือความพึงพอใจของคน

 
สำหรับผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ทดสอบกลิ่น ทุกคนต้องมีใบอนุญาตจากกรมควบคุมมลพิษ และจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทดสอบกลิ่นปีต่อปี ทำติดต่อกันได้ 2 ปี และต้องหยุดพักก่อนที่จะกลับมาสมัครได้ใหม่อีกครั้ง

เคยมีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ แต่ระดับตัวเลขที่ตรวจวัดได้ มันไม่สามารถตอบสนองถึงการรับรู้กลิ่น หรือความพึงพอใจของคน

น.ส.อรวรรณ ยกตัวอย่างการตรวจวัดสารมลพิษ 1 ตัว ที่มีกลิ่น แต่พบค่ามลพิษน้อยมาก หากถามความรู้สึกของคนที่ได้รับกลิ่น เขายังรู้สึกว่ามันยังรบกวนอยู่มาก จึงควรจะวัดค่ามลพิษจากความรู้สึกของคนด้วย โดยอัตราการเจือจางระดับต่างๆ และคำนวณออกมาเป็นค่าสถิติ และเทียบกับมาตรฐาน

คุณสมบัติผู้ทดสอบกลิ่น

ก่อนจะเป็นผู้ทดสอบกลิ่นต้องมีคุณสมบัติ ซึ่งกำหนดไว้ว่า จะต้องมีอายุ 18-60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และจะต้องไม่สูบบุหรี ไม่ดื่มสุรา ขณะที่สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของผู้ทดสอบกลิ่นต้องไม่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากอาจทำให้คุ้นชินกับกลิ่นประเภทนั้นๆ ได้

หากคุ้นชินหรือเจอกลิ่นอะไรเป็นประจำ อาจจะไม่สามารถตอบสนองกับกลิ่นอื่นๆ ได้ เช่น หากอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ก็อาจไม่ตอบสนองต่อกลิ่นประเภทเดียวกันกับโรงงานอุตสาหกรรมได้ 

สำหรับการขึ้นทะเบียนผู้ทดสอบกลิ่นนั้น สามารถทำได้ปีต่อปี จะขึ้นทะเบียนต่อเนื่องกันได้ไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากต้องพักจมูกเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะกลับมาสมัคร เพื่อทดสอบขึ้นทะเบียนได้ใหม่อีกครั้ง

 

ด่านทดสอบคัดเลือกผู้ทดสอบกลิ่น

ทุกปีจะคัดเลือก "ผู้ทดสอบกลิ่น" หรือ Panelist มาทำหน้าที่ในการตวจวิเคราะห์ค่าความเข้มของกลิ่น โดยเปิดรับผู้ที่สนใจจากในหน่วยงาน บุคคลทั่วไป นักศึกษา เข้ามาร่วมกันทำการทดสอบกลิ่น นักดมกลิ่นทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบการดมกลิ่น มาตรฐาน 5 กลิ่น ตั้งแต่กลิ่นที่มีลักษณะหอมหวานไปจนถึงกลิ่นเหม็นอับ กลิ่นเหล่านี้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ กลิ่นที่ได้จำลองขึ้นมาจากกลิ่นที่เราใช้หรือสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย

  1. กลิ่นดอกไม้
  2. กลิ่นเหม็นไหม้
  3. กลิ่นเหม็นอับ เช่น ถุงเท้า ผ้าขี้ริ้ว
  4. กลิ่นผลไม้อ่อนๆ
  5. กลิ่นของเสียหมักหมม เช่น กลิ่นอุจจาระ


วันทดสอบ Panelist จะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสุขภาพ ไม่เป็นหวัด และเพื่อให้แน่ใจว่าประสาทรับกลิ่นยังคงที่ จึงไม่ควรสูบบุหรี่ เป็นภูมิแพ้ หรือมีปัญหาด้านโพรงจมูก ไม่สามารถใส่น้ำหอม แต่งหน้า หรือทาเล็บได้

เรื่องสุขภาพไม่ได้กำหนดว่าต้องละเอียดขนาดไหน แต่คนที่จะเข้ามาก็ต้องมั่นใจว่ามีคุณสมบัติ เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ระบบทางเดินหายใจ ต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด ก็เพียงพอแล้ว

ขั้นตอนพิสูจน์กลิ่นไขปมร้องเรียน

สำหรับขั้นตอนการพิสูจน์กลิ่น เริ่มจากเจ้าหน้าที่ภาคสนาม พนักงานควบคุมมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2553 หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ก็ได้ที่มีอำนาจเรื่องสิ่งแวดล้อม เก็บตัวอย่างอากาศในพื้นที่แหล่งกำเนิดที่มีปัญหา ด้วยเครื่องมือที่ถูกคิดค้นมาเพื่อดูดกลิ่นก่อนส่งตัวอย่างมาที่ห้องปฏิบัติการ ซึ่งขณะนี้มีห้องปฏิบัติการในการตรวจมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นของหน่วยงานราชการอยู่ 2 แห่งคือ กรมควบคุมมลพิษกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างเข้าห้องปฎิบัติการ นำกลิ่นมาเจือจางกับอากาศบริสุทธิ์ เพื่อไม่ให้กลิ่นเหม็นจนเกินไป ก่อนนำไปทดสอบกับนักดมกลิ่นที่ได้รับการคัดเลือกไว้ 6 คน ต่อ 1 ตัวอย่าง และใน 1 คน จะได้รับการทดสอบ คนละ 3 ตัวอย่างเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับร่างกาย โดยกำหนดให้ถุงดมกลิ่นมีปริมาณ 3 ลิตร ซึ่งเทียบเท่ากับอัตราของปริมาณทางอากาศที่คนทั่วไปหายใจที่มีค่าประมาณ 3 ลิตรต่อนาที


ในตัวอย่างอากาศที่บรรจุในถุงทั้ง 3 ใบ จะมีกลิ่นเพียงใบเดียว ส่วนที่เหลืออีก 2 ใบ จะเป็นอากาศสะอาดที่ปราศจากกลิ่นบรรจุอยู่ ซึ่งผู้ทดสอบกลิ่นจะต้องเลือกตอบให้ได้ว่า ถุงที่มีกลิ่นนั้นเป็นถุงใบใด เรียกวิธีนี้ว่า วิธีถุง 3 ใบ “Triangle odor bag method” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “TOB”

วันทดสอบตัวอย่าง ผู้ทดสอบกลิ่นจะต้องมาทดสอบดมกลิ่น เหมือนวันที่ขึ้นทะเบียน เพื่อเตรียมตัวว่า พร้อมจะเป็นผู้ทดสอบกลิ่นหรือไม่ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่อีกกลุ่ม ซึ่งทำหน้าที่เป็นโอเปอเรเตอร์ คือ คนที่ทำหน้าที่เตรียมตัวอย่างกลิ่นให้กับ ผู้ทดสอบกลิ่นทั้ง 6 คน

อย่างไรก็ตามกระบวนการทั้งหมดจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้การวิเคราะห์กลิ่นมีความถูกต้อง

สำหรับวิธีการตรวจวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ทั้ง สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

ช่วยกำหนดมาตรฐานกลิ่น ลดผลกระทบประชาชน

น.ส.อรวรรณ ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นเกินมาตรฐานเกี่ยวกับการควบคุม รวมถึงการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากโรงงานบางประเภทซึ่งยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเอาไว้ ขณะนั้นได้มีการดัดแปลงใช้วิธีการดมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนซ้ำซากและยาวนาน

ชาวบ้านเขารู้สึกว่า ผลการตรวจวัดจากพารามิเตอร์ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เพราะว่าชาวบ้านยังได้กลิ่นเหม็นอยู่ และรบกวนชีวิตประจำวัน จึงได้นำวิธีการนี้ไปใช้แล้วนำตัวเลขที่ตรวจวัดได้ไปกำหนดเป็นค่าในการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดนั้นๆ

เช่น มาตรฐานที่มีจะเป็นมาตรฐานที่ระบายออกจากปล่อง ค่าความเข้มข้นกลิ่นที่ระบายออกจากปล่อง บริเวณริมรั้วของแหล่งกำเนิดมลพิษ หลังจากที่ได้ตัวเลขแล้ว จะส่งไปให้หน่วยงานที่กำกับดูแล และนำตัวเลขเหล่านี้ไปเป็นเป้าหมายว่า โรงงานจะต้องปรับลด หรือควบคุมไม่ให้ปล่อยค่าความเข้มกลิ่นให้เกิดมาตรฐานนี้

นอกจากนี้ ยังต้องเข้าไปสอบถามชาวบ้านที่อยู่โดยรอบด้วยว่า หากโรงงานควบคุมกลิ่นโดยให้อยู่ในค่ามาตรฐานที่กำหนด ชาวบ้านรับได้หรือไม่ วิธีนี้เป็นวิธีการช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนได้ค่อนข้างมาก และเก็บข้อมูลของโรงงานต่อเนื่อง

กรณีที่เห็นได้ชัดเจนคือ โรงงานยางพาราที่มีการทดสอบกลิ่น จนนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานควบคุม ค่าความเข้มข้นของกลิ่นโรงงานยางพาราโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาค่อนข้างมาก เช่น โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก โรงงานผลิตเครื่องดื่ม เช่น เบียร์ และโรงงานสกัดปาล์ม และที่เข้ามามากๆ เกี่ยวกับสถานที่เลี้ยงสัตว์ เช่น ฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่ และฟาร์มเป็ด

อาหารหากเราชอบเราก็จะมองว่าหอม ถ้ากลิ่นมาน้อยๆ แต่หากมีกลิ่นปริมาณมากตลอดเวลาโดยที่เราไม่ได้อยากดม เราก็จะรู้สึกว่ามันรำคาญ ซึ่งปัญหานี้เป็นที่มาของเรื่องร้องเรียน

นักทดสอบกลิ่น อาชีพนี้ปลอดภัย

นายภิญธนัฎฐ์ ศรีชะเอม ผู้ทดสอบกลิ่น เล่าว่า ปัจจุบันเป็นข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ ตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม อยู่แล้ว เมื่อทราบว่ามีการรับสมัครผู้ทดสอบกลิ่น จึงต้องการทดสอบว่า ตัวเองมีความสามารถด้านการดมกลิ่นมากแค่ไหน โดยการทดสอบจะได้ดมตัวอย่าง 5 กลิ่น แล้วเลือกว่าได้กลิ่นหรือไม่ และเป็นกลิ่นของตัวอย่างชนิดไหน ซึ่งหากตอบไม่ถูกเพียงกลิ่นเดียวก็จะถือว่าทดสอบไม่ผ่านทันที


ที่ผ่านมาได้ขึ้นทะเบียนผู้ทดสอบกลิ่นมา 2 ปีแล้ว โดยแต่ละปีจะมีการทดสอบเรื่องร้องเรียนประมาณ 1 ครั้ง เนื่องจากมีผู้ขึ้นทะเบียนผู้ทดสอบกลิ่นเป็นจำนวนมาก

ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่ได้ทดสอบเป็นกลิ่นจากฟาร์มเลี้ยงสุกร เมื่อมีเรื่องร้องเรียนทางห้องปฏิบัติการจะติดต่อไปยังผู้ทดสอบกลิ่น เพื่อให้เข้ามาดมกลิ่น ก่อนนำคำตอบไปคำนวณค่าความเข้มข้นกลิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป 

การดมกลิ่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เพราะส่วนใหญ่เป็นกลิ่นจากฟาร์มปศุสัตว์ เหมือนเวลาขับรถไปต่างจังหวัดแล้วได้กลิ่นมูลสัตว์ อีกทั้งในห้องแล็บยังมีการเจือจางกลิ่นด้วย


สอดคล้องกับ น.ส.พรทิพย์ ศักดิ์เดชธำรง ผู้ทดสอบกลิ่นอีกคน ระบุว่า มนุษย์ดมกลิ่นฟังเพียงชื่อก็น่าสนใจแล้ว จึงต้องการเรียนรู้วิธีการดมกลิ่นและทดสอบการรับรู้กลิ่นของตัวเอง อีกทั้งก่อนหน้านี้เป็นคนดมกลิ่นได้ดีในระดับหนึ่ง จึงสนใจจะเข้ามาเรียนรู้การแยกกลิ่น ส่วนตัวทำมา 1 ปีแล้ว และได้ขึ้นทะเบียนเป็นปีที่ 2 ในปีนี้

กรณีที่เคยทำมาคือ ฟาร์มสุกร การดมกลิ่นไม่ได้มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน เราเพียงมาลงทะเบียนและทดสอบว่าเรารับรู้กลิ่นได้ปกติไหม และตัวอย่างกลิ่นที่ได้ดมก็เป็นกลิ่นธรรมดาที่เคยได้กลิ่นอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การเข้ามาทำอาชีพผู้ทดสอบกลิ่นนั้น นอกจากต้องการทดสอบการรับรู้กลิ่นของตัวเองแล้ว ยังหวังจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนและส่งสร้างให้ภาครัฐพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์หรือมาตรฐานต่างๆ เพื่อช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในอนาคตด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง