THE EXIT : ขายความหวัง ลวงปลดหนี้

สังคม
3 ส.ค. 63
19:35
19,734
Logo Thai PBS
THE EXIT : ขายความหวัง ลวงปลดหนี้
THE EXIT ตรวจสอบข้อร้องเรียนโครงการของคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าได้รับการจัดสรรงบจำนวนมากจากรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีการตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

กรณีมีประชาชนร้องเรียนให้ The EXIT เข้าไปตรวจสอบโครงการของคนกลุ่มหนึ่ง ที่อ้างว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่น่าตั้งข้อสังเกต คือเครือข่ายนี้ สามารถชักชวนคนมาร่วมอบรมได้ ไม่ต่ำกว่ารอบละ 1,000 คน และมีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายระหว่างการอบรม และหลังการอบรมอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่า จะนำไปใช้เพื่อดำเนินเรื่องขอ"ปลดหนี้" ให้กับสมาชิก

เราถามเขาว่าถ้าเป็นโครงการดีจริง เพื่อช่วยประชาชนทำไมถึงไม่เปิดเผย เขาบอกว่ากลัวคนสวมรอยไม่ยากจนจริง แต่เริ่มเอะใจเพราะคนรุ่นหลังก็ไม่ได้รับการยืนยันว่าปลดหนี้

 

หญิงคนนี้ บอกว่า ถูกชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ "ปลดหนี้" ผ่านการแนะนำของคนรู้จัก เมื่อช่วงต้นปี ที่ผ่านมา เงื่อนไขของโครงการ คือ "ปลดหนี้ให้ ทั้งในและนอกระบบ โดยไม่จำกัด จำนวนหนี้สิน" เพียงแค่ต้องเดินทาง ไปเข้าร่วมอบรม กับทีมวิทยากรของโครงการ เป็นระยะเวลา 5 วัน ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และผ่อนคืนด้วยการ "ปลูกต้นไม้" ใช้หนี้ในภายหลัง

ภาพที่ถูกบันทึกไว้ ระหว่างการเข้าอบรม เห็นได้ว่าแต่ละรอบ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทุกคนสวมใส่เสื้อสีส้ม มีตราสัญลักษณ์ "สภาประชาชน 4 ภาค" ซึ่งต้องซื้อในราคาตัวละ 350 บาท

 

หญิงคนนี้ บอกว่า มีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายลักษณะนี้ ตลอดระยะเวลา 5 วัน ของการอบรม เริ่มต้นตั้งแต่ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" รวมค่าเดินทาง เฉลี่ยตกคนละ ไม่ต่ำกว่า 3,000-5,000 บาท

ที่จำได้มีค่าเหยียบแผ่นดินค่าซื้อใบแคนคู่ ค่าถ่ายเอกสารเยอะมากเพราะต้องถ่ายเอกสารหนี้ให้ครบ บัตรประชาชนทะเบียนบ้าน ค่าซื้อกระดาษเขียนจดหมายร้อง และให้จ่ายเงิน 100 บาท

 

ทีมข่าวเดินทางไปยังพิกัด ที่ถูกระบุว่า เป็นที่ตั้งของศูนย์ฝึกอบรม บริเวณ ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พบว่าด้านหน้ามีการขึ้นป้าย ระบุข้อความ "เครือข่ายประชาชน 4 ภาค" มีกลุ่มคนชุดดำ ตั้งจุดตรวจบุคคล-เข้าออกอย่างแน่นหนา เป็นไปตามการให้ข้อมูล ของผู้ที่เคยเข้าร่วมอบรมว่าเมื่อเข้าไปแล้ว จะไม่สามารถกลับออกมาได้ จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลา 5 วัน

ทีมข่าวยังได้ข้อมูลว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น ใช้ "ระบบกลุ่ม" เป็นกลไกควบคุม คือ สมาชิกทุกคนจะต้องจับกลุ่ม กลุ่มละ 30 คน ทำกิจกรรมต่างๆ ให้ครบตามที่วิทยากรกำหนด ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถยื่นเอกสาร "ขอปลดหนี้" ในวันสุดท้ายได้

 

"ใบแคนคู่" เป็นแบบฟอร์มที่ ให้สมาชิกต้องซื้อ เพื่อกรอกรายละเอียดหนี้สินของตัวเอง โดยทุกคนเชื่อ ตามคำกล่าวอ้างของวิทยากร ว่าหนี้สินที่ระบุไปทั้งหมด จะได้รับการปลดเปลื้องให้ โดยยอดหนี้ของแต่ละคน มีตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึงหลักสิบล้านบาท

ไม่มีการพูดถึงว่าจะปลดหนี้ให้เท่าไหร่ เขาบอกว่าเกิดจากคนเดือดร้อนเลยมีม็อบไปที่ที่รัฐสภาและยื่นเอกสารให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีคนหนึ่งยื่นเรื่องไว้ แต่ไปหาข้อมูลหนังสือคำสั่ง 373/2562 ก็ไม่เจอ

หลังฝึกอบรมเสร็จ ทุกคนกลับบ้านด้วยความหวังว่า จะได้รับการ"ปลดหนี้" ตามที่เจ้าของโครงการกล่าวอ้าง แต่เมื่อการอบรมผ่านไปมากกว่า 6 รุ่น โดย 1 รุ่น มีการเปิดอบรมมากถึง 10 รอบ กลับยังไม่พบว่า มีใคร ได้รับการปลดหนี้จริง

ร้องศูนย์ดำรงธรรมตรวจสอบ 

กรณีนี้มีหนังสือร้องเรียน ให้ "ศูนย์ดำรงธรรม" ในหลายจังหวัด เข้าไปตรวจสอบ  หนึ่งในนั้นคือ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ทีมข่าว สอบถามชาวบ้าน ในต.เขาพระ อ.พิปูน ได้รับการยืนยัน ว่า มีการชักชวนคนในหมู่บ้าน ให้เข้าร่วมโครงการนี้จริง  ผ่านบุคคลที่น่าเชื่อถือของชุมชน ทำให้ที่ผ่านมา มีคนเดินทางไปร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก แต่ "ชาวบ้าน" คนนี้ บอกว่า โดยส่วนตัวไม่เชื่อ ว่าจะมีโครงการลักษณะนี้จริง จึงไม่ได้เดินทางไปตามคำชักชวน

ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะมีโครงการแบบนี้อยู่จริง เขาให้หาพรรคพวก บอกว่าจะช่วยปลดหนี้นอกระบบ หนี้ธนาคาร พอสนใจแต่พอไปฟังรายละเอียดคิดว่าไม่น่าจะใช่ จึงไม่ได้ไปตามคำชักชวน

ทีมข่าวได้เบาะแสว่า หลังมีคนใน ต.เขาพระ ทำเรื่องร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม ทาง อ.พิปูน ได้ทำหนังสือถึง "ผู้ใหญ่บ้าน" ทุกหมู่บ้าน ให้เฝ้าสังเกตพฤติการณ์ของกลุ่มคนที่เข้ามาชักชวน โดยเฉพาะหมู่ 3 และหมู่ 12 ซึ่งพบว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาชักชวนคนใน อ.พิปูน ให้ไปร่วมโครงการ "ปลดหนี้"

 

แต่ด้วยยังไม่มี "ผู้เดือดร้อน" ที่เปิดเผยชื่อ หรือ "เข้าแจ้งความ" ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำได้เพียงแค่ตักเตือนลูกบ้านของตนเองเท่านั้น

จากการตรวจสอบ พบมีการร้องเรียนกรณีเดียวกันนี้ ไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่ภาคใต้ ในเอกสารร้องเรียน ยังพบข้อความว่าโครงการดังกล่าว แอบอ้างหน่วยงานราชการ และนักการเมือง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

และเมื่อตรวจสอบหนังสือตอบกลับ จากสำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของศูนย์ฝึกอบรม และถูกกล่าวอ้างว่า โดย "โครงการ" ว่าเป็นที่ดินที่ได้รับการจัดสรรไว้ สำหรับเป็นพื้นที่ "ปลูกต้นไม้ปลดหนี้" นั้น  ส.ป.ก.เพชรบุรี ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมกับขอให้ "หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อกลุ่มบุคคลตามกรณีที่มีการร้องเรียน 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง