เปิดแผนกู้เรือเฟอร์รี่ล่ม เกาะสมุย

สิ่งแวดล้อม
12 ส.ค. 63
14:15
4,081
Logo Thai PBS
เปิดแผนกู้เรือเฟอร์รี่ล่ม เกาะสมุย
ข้อจำกัดของคลื่นลมเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทีมค้นหาต้องใช้ประเมินความปลอดภัยก่อนจะปฏิบัติภารกิจ สิ่งนี้ทำให้การเก็บกู้ซากเรือ และขยะจำนวนมหาศาล จากเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่ล่ม ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ใช้เวลามานานกว่าสัปดาห์แล้ว

ความยากลำบากของการเก็บกู้เรือราชาเฟอร์รี่ 4 ที่จมห่างออกไปจากเกาะสมุยทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กม.โดยระดับความลึกอยู่ที่ประมาณ 18 ม.ทัศนวิสัยการมองเห็น 1 ม.เท่านั้น ขณะที่คลื่นลมก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ทีมดำน้ำหน่วยซีล ที่ลงไปสำรวจหาผู้สูญหายปฏิบัติภารกิจได้เพียงครึ่งวันและในการดำน้ำแต่ละครั้งสามารถอยู่ใต้น้ำได้ราว 45 นาที เนื่องจากกระแสน้ำค่อนข้างแรง

 

ขณะที่หลายฝ่ายต้องการให้เดินหน้ากู้เรือและกู้ขยะให้เร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้นานยิ่งมีความเสี่ยงที่ขยะจะหลุดลอยออกมา ข้อสรุปก่อนหน้านี้เห็นตรงกันว่า จะให้บริษัทเรือเฟอร์รี่ และบริษัทรับกำจัดขยะ เป็นผู้รับผิดชอบเก็บกู้ขยะและซากเรือโดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 2 ก.ย.นี้

 

เบื้องต้นได้มีการติดต่อไปยังบริษัทที่ชำนาญในการกู้ซากเรือมาดำเนินการแล้วโดยการกู้ซากเรือและการกำจัดขยะจะมีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส. สุราษฎร์ธานี) เป็นผู้ควบคุมดูแลการขนย้าย โดยข้อมูลทั้งก่อนและหลังการเก็บกู้จะต้องถูกบันทึกไว้เพื่อประเมินผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่คำถามใหญ่ คือ จะเก็บกู้แบบใดเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

 ขั้นตอนการเก็บกู้เรือเฟอร์รี่และรถบรรทุกขยะทั้ง 3 คันที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งตามที่มีการวางแผนไว้คือ การใช้เรือเครนขนาด 800 ตัน หย่อนเชือกหรือลวดสลิงลงไปถึงเรือเฟอร์รี่ที่จมอยู่ซึ่งมีความลึกกว่า 18 ม.เพื่อดึงเรือขึ้นมา

ทั้งนี้เรือเฟอร์รี่มีน้ำหนักอยู่ที่ 324 ตันกรอส ในขณะที่รถบรรทุกที่พลิกคว่ำอยู่ทั้ง 3 คัน รวมกับขยะมีน้ำหนักราว 120 ตัน โดยในช่วงของการดึง-ยกเรือขึ้นมาจะมีนักประดาน้ำอีกกว่า 100 คน มาช่วยทำภารกิจครั้งนี้ด้วย

 

นอกจากนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดเจ้าหน้าที่ได้เตรียมวางบูมดักน้ำมันเพื่อป้องกันการรั่วไหลระหว่างยกตัวเรือจากนั้นจะวางอวนหรือตาข่ายที่มีความกว้างประมาณ 1 กม.ล้อมไว้เพื่อป้องกันขยะที่อาจหลุดแตกออกมา

 

 

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยอมรับว่า วิธีการนี้ในไทยยังไม่เคยทำมาก่อนแต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันผลกระทบต่อทรัพยากรและระบบนิเวศ แม้จะยืนยันว่าการกู้เรือขนาดใหญ่แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ความเสียหายจากอุบัติเหตุทางทะเลที่อาจส่งผลต่อระบบนิเวศ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ที่สำคัญคือหน่วยงานรัฐสามารถฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เน้นย้ำว่า ถ้าเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศจริงจะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุดเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

เหตุการณ์นี้ คือบทเรียนสำคัญ ที่ภาครัฐซึ่งกำกับดูแลเองก็ยอมรับว่า การจัดการขยะข้ามเกาะในระยะยาวอาจต้องปรับระบบใหม่ จากนี้คงไม่สามารถปล่อยให้เป็นบทบาทหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า การที่ภาครัฐออกมาประกาศเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่แนวทางจัดการปัญหาขยะล้นเกาะได้อย่างเป็นรูปธรรมเพียงใด

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง