ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วัดใจรัฐบาล แผนปฎิรูปประเทศ 13 ด้าน

การเมือง
19 ส.ค. 63
10:11
591
Logo Thai PBS
วัดใจรัฐบาล แผนปฎิรูปประเทศ 13 ด้าน
นายกฯ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปชุดใหม่ 13 ด้าน กับโจทย์ปฏิรูปประเทศยุค New Normal ฟื้นฟูประเทศหลัง COVID-19

โจทย์สำคัญของการเดินหน้าแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปชุดใหม่ 13 ด้าน ตามรัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา คือ การทำแผนปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้รองรับกับการมีวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) หลังจากเกิดวิกฤตโควิด -19

โดยคณะกรรมการปฎิรูปประเทศ 13 ด้านที่ร่วมขับเคลื่อนแผนปฎิรูปในครั้งนี้ มีเวลาทำงานอีกประมาณ 2 ปี เพราะจะครบวาระในวันที่ 14 ส.ค.2565 ประกอบไปด้วย 1. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง 2. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 4. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 5. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ 6. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

8.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 9.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม 10.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 11.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 12.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และ 13.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

และด้วยเวลาที่มีอยู่จำกัด การส่งมอบการบ้านจากรัฐบาลในการจัดทำแผนงานเร่งด่วนหรือ Big Rock จึงเริ่มขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมขีดเส้นให้ส่งภายในเดือน ส.ค. เพื่อให้สภาพัฒนฯ ฝ่ายเลขานุการ แผนปฏิรูปทุกด้านไปสอบถามความคิดเห็นประชาชน ก่อนที่จะสรุปส่งรัฐบาล เพื่อนำเข้า ครม. ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ถึงแม้ว่าแผนงานเร่งด่วน หรือ Big Rock ในคณะกรรมการฯบางคณะจะถูก “ต่อยอด” จากชุดที่แล้ว แต่ในประเด็นหลักที่คณะกรรมการฯ เกือบทุกด้าน เสนอแนะและเห็นตรงกัน คือ การเสนอให้มีระบบเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล หรือจัดทำ Big Data ในแต่ละด้าน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้เป็นฐานข้อมูลแก้ปัญหา รวมถึงการพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐที่ทันสมัย

ส่วน “ไฮไลท์” ที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการฯ แต่ละด้านที่น่าสนใจ อาทิ ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ที่เสนอรูปแบบการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารราชการภายใน 2 ปี ทั้งการจัดแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่สำคัญ และเปิดระบบออนไลน์ในหน่วยงานบริการของรัฐ 24 ชั่วโมง เพื่อให้บริการประชาชน นอกจากนี้ยังเสนอปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการ และบุคคลากรให้ยืดหยุ่นรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้านสังคม เสนอ ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำฐานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อปฏิรูปแผนช่วยเหลือ กลุ่มผู้เสียเปรียบหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้พิการแต่ละประเภท รวมถึงจัดทำระบบข้อมูลหลักประกันสังคมของชุมชนเมือง กำลังเกิดปัญหาคนตกงาน หรือคนว่างงาน

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอประกาศเขตทางทะเลแบ่งให้ 23 จังหวัดร่วมรับผิดชอบ ปัจจุบันเขตจังหวัด หยุดอยู่ที่ชายหาด แต่ต่อไปเขตของจังหวัดจะลงไปอยู่ในทะเล เพื่อให้จังหวัดมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ และดูแลพื้นที่กรณีเกิดภัยพิบัติ หรือแก้ต่างๆ อย่างปัญหาประมง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่เพิ่มอีก 3 แสนตารางกิโลเมตร จากเดิมที่มีพื้นที่ 5.2 แสนตารางกิโลเมตร

ด้านสาธารณสุขเสนอยกระดับการบัญชาการ สถานการณ์และเตรียมความพร้อมด้านฉุกเฉินเพื่อเผชิญกับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ ทั้งนี้จากถอดบทเรียนของโควิด ที่จัดทำระบบได้ดีในขณะนี้ เพราะมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เสนอมาตรการสกัดกั้นการทุจริต เชิงนโยบาย โดยมีการกำหนดโครงการขนาดใหญ่ ที่มีวง 500-1,000 ล้านบาท จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตกับทางสภาพัฒนฯ และสำนักงบประมาณก่อนที่จะเริ่มโครงการ

ด้านกระบวนการยุติธรรมเสนอจัดทำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม เหมือนอย่างคดี “บอส อยู่วิทยา” ทั้งนี้จะมีการกำหนดกรอบเวลาทุกขั้นตอนของการดำเนินการ เพื่อให้คู่กรณี และประชาชนทราบถึงความคืบหน้า

ด้านเศรษฐกิจเสนอเรื่องพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และ การเป็นศูนย์กลางสุขภาพ สุขอนามัย (Wellness Hub ) รวมถึงอาหารปลอดภัย รวมถึงปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ปัจจุบันประชากร 20 กว่าล้านคนอยู่ในภาคเกษตร โดยการนำผลผลิตทางเกษตร มาต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม อาหารปลอดภัย อาหารคุณภาพสูงเฉพาะทาง เครื่องสำอางพวก Bio Economy จะทำให้ได้ราคาที่ดีขึ้น

ด้านกฏหมายเสนอให้มีการออกกฏหมายกลาง เพื่อดำเนินการให้กฏหมายทุกฉบับมีผลบังคับใช้ เนื่องจากปัจจุบันมีกฏหมายที่กระทบ หรือละเมิดประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เร่งรัด หรือ ดำเนินการ จะกำหนดให้กฏหมายนั้นๆ สิ้นสภาพไปทันที

และปรับปรุงการกำหนดโทษทางอาญา ในความผิดเล็กน้อย เป็นคดีทางแพ่ง ให้เปลี่ยนโทษปรับเป็น “พินัย” แทน โดยเงินที่ได้จากการปรับดังกล่าวจะเอาเข้าหลวง ทั้งนี้ต่อไปจะไม่มีในเรื่องของเงินรางวัล ที่ต้องให้กับตำรวจหรือเจ้าหน้าที่กับสินบนนำจับ ที่ให้กับประชาชนที่ชี้ช่องหรือเบาะแส และประชาชนที่ได้รับโทษดังกล่าวก็จะไม่มีประวัติอาชญกรรมติดตัวไป

ด้านการศึกษาเสนอให้ปฏิรูปอาชีวะ เน้นการศึกษาระดับอาชีวะ ทุกคนจบมาต้องมีงานทำ มีแนวทางทำมาหากิน ไม่ใช่เน้นวิชาการและเรียนตามหลักสูตรเหมือนสมัยก่อน โดยต่อไปอาจจะมีวิชาอาชีววิทยาอยู่ในการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กเล็ก ทุกคนต้องมีคุณภาพ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกสถานการณ์ ไม่ได้เฉพาะในห้องเรียน

ด้านการเมือง เสนอการพัฒนาองค์กรทางการเมือง ทั้งพรรคการเมืองและให้การศึกษากับสถาบันการศึกษามากขึ้น อย่างเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรไปติดกับดักกับเรื่องอำนาจเฉพาะกลุ่มอย่าง ส.ว. หรือรูปแบบการเลือกตั้ง นอกจากนี้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งทั้งในส่วนตรวจสอบโดยตรงจากประชาชนหรือตรวจสอบองค์กรอิสระ รวมถึงอัยการ

ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสนเทศ เสนอให้รณรงค์และให้ความรู้กับประชาชนผู้รับสื่อ ปลูกฝังตั้งแต่เด็กและเยาวชนด้วยการบรรจุสาระเกี่ยวกับการรู้ทันสื่อ ให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมตอนปลายหรือเทียบเท่า และเป็นวิชาพื้นฐานระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้เสนอจัดตั้งสภาวิชาชีพดูแลจริยธรรมสื่อ ซึ่งขณะนี้ร่างกฏหมายเสร็จและผ่านคณะกรรมการกฤษฎีฎาแล้ว

ด้านพลังงาน เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าทั้งการส่งเสริมเพื่อการแข่งขัน,โครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ่าและปฏิรูปการพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพในกิจการไฟฟ้าและธุรกิจก๊าซธรรมชาติ สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็น คณะกรรมการฯด้านล่าสุด ที่มีการแต่งตั้งขึ้นมาเพิ่มแยกมาจากด้านสังคม เสนอให้มีลานกีฬา ทุกหมู่บ้าน พร้อมตั้งเป้า พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในอนาคต 15-20 ปี เด็กไทยต้องเก่งกว่าสิงคโปร์ และ เด็กไทยต้องรู้ 3 ภาษา ที่จำเป็นคือด้าน AI และด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการดึงให้คนไทยที่มีความรู้สามารถ และคนต่างประเทศที่เก่งในสาขาที่เราขาดแคลน มาอยู่ในประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ในการนำพาประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตโควิด แต่คงต้องรอวัดใจ รัฐบาลว่าจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ตามข้อเสนอเหล่านี้ หรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง