วันนี้ (14 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงขณะนี้ โดยนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ ทีเอชเอ ระบุว่า สภาพคล่องของผู้ประกอบการโรงแรมไทยส่วนใหญ่อยู่ได้อีกเพียง 3-6 เดือน ทางโรงแรมจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวไทย โดยสมาคมฯ ประเมินว่าปัจจุบันแรงงานในธุรกิจโรงแรมว่างงานทั้งแบบชั่วคราวและถาวรรวม 1 ล้านคน โดยร้อยละ 25 เป็นการว่างงานถาวร และยังพบว่ามีความต้องการจ้างงานลดลงร้อยละ 75
ซึ่งหากยังมีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวจนถึงกลางปี 2564 จะมีผลทำให้เงินหมุนเวียนของธุรกิจลดน้อยลง ยิ่งขึ้น รวมถึงการว่างงานที่เพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้น จนโรงแรมอาจต้องปิดตัวลงหรือขายกิจการ ขณะนี้ธุรกิจโรงแรมอยู่ในสภาวะซัพพลายล้นตลาด โรงแรมหลายแห่งแม้จะเปิดบริการแล้วแต่ยังขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถสร้างยอดขายให้สูงกว่าจุดคุ้มทุน จนเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก ส่งผลให้มีความจำเป็นเลิกจ้างพนักงาน
เสนอรัฐตั้งกองทุนฟื้นฟูท่องเที่ยว
สมาคมฯ จึงเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือ โดยต้องการให้รัฐออกมาตรการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อรักษาการจ้างงานและเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระต้นทุนคงที่สำหรับโรงแรมเมื่อเปิดกิจการ โดยจะขอหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มเกี่ยวกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือโรงแรมขนาดกลางและเล็ก
นอกจากนี้ขอให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเข้าไปร่วมลงทุนในส่วนทุน หรือซื้อหนี้ของแต่ละกิจการ ระยะเวลา 7 ปี และเปิดสิทธิรับซื้อคืนได้ในผลตอบแทนร้อยละ 1 ต่อปีของกองทุนฯ
ขณะเดียวกัน สมาคมฯ จะขอให้นำร่องเปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างชาติเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยมีมาตรการการควบคุมที่เหมาะสม เช่น รับนักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ แบบกักตัว 14 วัน นอกเหนือจาก 11 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้เข้าประเทศไทยได้ ณ ปัจจุบัน, รับนักธุรกิจ-นักลงทุนต่างชาติที่มีกิจกรรมทางธุรกิจซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ต้องการเดินทางเข้ามาประชุมหรือเจรจาธุรกิจระยะสั้นน้อยกว่า 14 วัน, เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัดพื้นที่ ร่วมกับประเทศหรือเมืองที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี เช่น ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และในพื้นที่บางส่วนของจีน โดยนักท่องเที่ยวจะต้องเข้าสู่การกักตัวตามนโยบายการกักกันตัวที่เหมาะสม
ทั้งนี้อาจสามารถเริ่มต้นทำแบบจำกัดพื้นที่ก่อนได้ เช่น ภูเก็ตโมเดล โดยการกักตัวแบบลักษณะจำกัดพื้นที่ เเต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดจะต้องให้ความร่วมมือกับโครงการดังกล่าว และขอให้ภาครัฐช่วยสร้างความเข้าใจและความมั่นใจจากประชาชน โดยมีแผนการสื่อสารที่ชัดเจนและเป็นระบบ ครอบคลุมไปในทิศทางเดียวกันจากทุกหน่วยงาน