"พิธา" ตั้ง 5 ข้อสังเกตงบฯ ปี 64 ไม่ตอบโจทย์มหาวิกฤตประเทศ

การเมือง
16 ก.ย. 63
16:07
266
Logo Thai PBS
"พิธา" ตั้ง 5 ข้อสังเกตงบฯ ปี 64 ไม่ตอบโจทย์มหาวิกฤตประเทศ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้ง 5 ข้อสังเกตจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ชี้โครงสร้างงบประมาณยังไม่ตอบโจทย์ รัฐตัดงบไม่จริง เลื่อนพิจารณาไปปีถัดไป เตือนประมาณการฐานะการคลังขาดดุล 6 แสนล้าน อาจทำคลังแตก กลายเป็นงบงูกินหาง

วันนี้ (16 ก.ย.2563) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยระบุว่าขอสงวนแปรญัตติ ขอตัดงบในมาตรา 4 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท โดย กมธ.ได้ตัดลดงบประมาณลงเหลือ 3.28 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า แม้ กมธ.จะตัดลดงบลงไปแต่ก็ยังไม่เหมาะสมต่อสภาวะมหาวิกฤตที่ประเทศไทยยังเผชิญอยู่

วิกฤตชีวิตผู้คน น้ำตาของคนขับรถตู้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่บอกว่าผมเป็นลูกค้าคนแรก กว่า 180 วันที่รถจอดนิ่ง ไม่มีรายได้เข้ากระเป๋า และยังคิดไม่ออกว่าจะเอาเงินที่ไหนไปเป็นค่าเทอมลูก หรือนักศึกษาที่เดินตามฝัน อยากเป็นผู้ประกอบการ SMEs เจ้าของร้านอาหารที่ต้องพังทลายหลังเรียนจบเพียงไม่กี่เดือน หรือพ่อค้า แม่ค้า ขายน้ำมะพร้าวมือใหม่ หลังตกงานจากโรงงานแผงวงจรไฟฟ้า เริ่มอาชีพใหม่ตอนอายุ 50 ปี

ประชาชนกำลังเผชิญสึนามิเศรษฐกิจ หายใจไม่ออกเหมือนสำลักน้ำ ประชาชนกำลังอยู่ในยุคที่ยิ่งดิ้นรน ก็ยิ่งยากจน

นายพิธา ยังได้อภิปรายโดยตั้ง 5 ข้อสังเกต ดังนี้

1.โครงสร้างงบประมาณยังไม่ตอบโจทย์มหาวิกฤตที่เผชิญอยู่ โลกปรับ ไทยต้องเปลี่ยนในเชิงยุทธศาสตร์ งบประมาณของกระทรวงหลักแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพิ่มหรือลดไม่กี่ % ไม่สามารถรองรับอาฟเตอร์ช็อกได้

2.งบประมาณที่ตัดยังตัดไม่จริง แต่เลื่อนไปพิจารณาในปีหน้า โดยเฉพาะงบประมาณกระทรวงกลาโหม หรืองบประมาณบางโครงการ อย่างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว กมธ.ตัดงบประมาณไปแล้วเพื่อยุติโครงการ แต่กรมชลประทานยังเอางบประมาณ ปี 63 มาดำเนินการต่อทั้งที่ประชาชนคัดค้าน

3.รัฐราชการโตขึ้น 4% ทุกปี แทบจะโตเร็วกว่า GDP จากงบตาม ม.4 ทั้งหมด 3.286 ล้านล้านบาท เป็นงบบุคลากรภาครัฐ 1.1 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด งบเพิ่มขึ้น 4% ทั้งที่จำนวนข้าราชการไมได้เพิ่มขึ้น

4.การกระจายอำนาจ ท้องถิ่นถูกรีดภาษี และได้เงินชดเชยไม่เพียงพอ แม้ กมธ.จะเพิ่มงบประมาณในวาระ 2 เพิ่มงบให้ อปท. 1 หมื่นล้านบาท แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้สั่งลดการเก็บภาษีที่ดินปละสิ่งปลูกสร้าง 90% ส่งผลกระทบ อปท. จำนวน 24,000 ล้านบาท

5.ประมาณการฐานะการคลัง อาจทำให้คลังแตก ถ้ารัฐบาลใช้งบ 3.2 ล้านล้านบาท จะขาดดุลประมาณ 6 แสนล้านบาท สำนักงบประมาณ รัฐสภา ประเมินรายได้ของรัฐตกไป 2.5 แสนล้าน ดังนั้น รัฐอาจต้องเดินงบขาดดุล 8.5 – 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลจำนวนมาก และขาดดุลต่อเนื่อง

รัฐต้องไล่จ่ายคืนเงินต้น-ดอกเบี้ยในปีถัดไป กลายเป็นงบฯ แบบงูกินหางที่สร้างข้อจำกัดในปีถัดไป รัฐบาลชี้แจงว่าการคลังเข้มแข็ง ถ้าคลังเข้มแข็งจริง ไม่ถังแตก ทำไมถึงยังแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ ถ้าจัดสรรงบประมาณให้ตรงจุด รัฐจะนำพาประเทศพ้นวิกฤตได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถกงบฯ 64 วันแรก ชงหั่นงบเหลือ 3.28 ล้านล้านบาท

“จิรายุ” เตือนรัฐบาลใช้เงินเปลือง ขอสำนึกภาษีประชาชน

"เกียรติ" ห่วงหนี้สาธารณะทะลุ 60 % เหตุเก็บรายได้ไม่ตรงเป้า

"รังสิมา" จี้เลิกอนุกมธ.งบฯ เจออาชีพนักการเมือง "ตบทรัพย์"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง