วันนี้ (22 ก.ย.2563) น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ พร้อมตัวแทนผู้เสียหาย 20 คนจากหลายจังหวัด ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ เลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เพื่อให้ตรวจสอบใบอนุญาต แผนการตลาด โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังก่อสร้าง และสินค้าอื่นๆ เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่ผู้ที่ลงทุนซื้อข้าวกอระหรือข้าวหอมมะลิออร์แกนิค และอาหารเสริม ยังไม่ได้รับเงินปันผลตามที่บริษัทกล่าวอ้าง จึงได้เรียกร้องขอเงินทุนคืนจากผู้บริหารบริษัท

ส่วนแผนการลงทุน คือ เริ่มต้นซื้อ 1ชุด เป็นเงิน 5,350 บาท จะได้ข้าวสาร 10 - 22 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่ตรงกัน มีเงินปันผลทุกวัน วันละ1-150บาท และจ่ายโบนัสทุก 7 วัน เช่นลงทุน 5,000 บาท +ค่าส่ง350บาท จะได้ผลกำไร 9,000 บาทภายใน 60วัน หากแนะนำสมาชิกต่อจะมีรายได้เป็นขั้นที่1-8 ได้ค่าแนะนำเริ่มต้นร้อยละ 4-6
หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า บริษัทนี้ก่อตั้งเมื่อ13 มี.ค.63 ไม่มีใบอนุญาตขายตรงจาก สคบ. ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นอีกบริษัทหนึ่งซึ่งมีใบอนุญาตขายตรงอยู่แล้ว นอกจากนี้กรณีไม่จ่ายเงินปันผลนานประมาณ 2 เดือนแล้ว ทางบริษัทชี้แจงว่าระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา และมีความผิดพลาดทางนโยบายของบริษัท

นอกจากนี้ยังพบว่าช่วงแรกๆบริษัทนี้ ได้ออกรายการโทรทัศน์หลายช่องเกี่ยวการดำเนินธุรกิจและช่วยเหลือชาวนาไม่ให้ถูกกดขี่เรื่องราคาโดยเฉพาะที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จึงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ลงทุน โดยแต่ละคนเริ่มลงทุนตั้งแต่เดือน เม.ย-ก.ค.63 ทางบริษัทโฆษณาว่า ไม่ต้องหาสมาชิกเพิ่มก็ได้เงิน แต่หากหาสมาชิกก็ยิ่งมีรายได้ และมีโบนัสแจกมากมายเช่น รถยนต์หรูและทองคำ
การลงทุนครั้งแรก ที่ได้ผลตอบแทนจริง ทำให้มีคนนำเงินมาลงทุนจำนวนมากตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้านบาท ต่อมาประมารเดือน 5 ทางบริษัทเริ่มไม่จ่ายผลตอบแทน ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น โดยทางบริษัทอ้างว่าจะทยอยจ่ายเงินปันผลให้

นอกจากนี้ผู้เสียหายยังเข้าร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. โดย พ.ต.ท.สง่า เอี่ยมงาม รอง ผกก.สอบสวน กก.2 บก.ปคบ.กล่าวว่า จะพิจารณารับเรื่องโดยขั้นตอนต่อไปคือเรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำทั้งหมด และจะประสานกับสคบ.เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเพิ่มเติม รวมถึงหากมีความเสียหายจำนวนมาก ก็จะประสานกับตำรวจเศรษฐกิจ นอกจากนี้หากถามถึงคดีเกี่ยวกับขายตรง พบว่าปีนี้เกิดขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา แม้ปีนี้จะมีสถานการณ์ระบายของCOVID-19 ก็ตาม

ส่วนกลุ่มคนตาบอดและผู้เสียหายในคดีเก่าธุรกิจขายตรง ทรูเฟรนด์ ได้มาติดตามถามความคืบหน้า เรื่องค่าปรับและการเยียวยาผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ซึ่งทางเลขานุการกรม (สคบ.)กล่าวว่ากำลังเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ นอกจากนี้ทางหน่วยงาน ได้เตือนภัยประชาชนเรื่องการลงทุนขอให้ใช้ความระมัดระวัง และตรวจสอบก่อนการลงทุนเสมอ
หากประชาชนมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับขายตรงแบบไม่ตรง และเกี่ยวกับผู้บริโภค ติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วน สคบ. โทร 1166 หรือ 02-143-0440 ส่วนไกล่เกลี่ยออนไลน์ อ่านรายละเอียดได้ที่ http://dmediate.ocpb.go.th หรือร้องเรียนและปรึกษาได้ที่ บก.ปคบ.สายด่วน 1135
