#รับจ้างทําการบ้าน "คะแนนครู - ภาระนักเรียน" ประโยชน์ใคร ?

สังคม
13 ต.ค. 63
12:32
699
Logo Thai PBS
#รับจ้างทําการบ้าน "คะแนนครู - ภาระนักเรียน" ประโยชน์ใคร ?
นักวิชาการด้านการศึกษาชี้ #รับจ้างทำการบ้าน สะท้อนเด็กการบ้านมาก คนทำได้พร้อมสนอง เมื่อครอบครัวพร้อมจ่ายช่วยแบ่งเบาลูกได้ ขณะที่ครอบครัวที่ไม่พร้อมเด็กบางคนยังต้องทำงานพิเศษช่วยที่บ้าน แนะครูประชุมลดการบ้าน ให้การบ้านที่มีความหมาย มากกว่าการบ้านเพื่อคะแนน

สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์แฮชแท็ก #รับจ้างทำการบ้าน จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยถึงความจำเป็นในการรับจ้างทำการบ้าน รวมถึงปัญหาของการศึกษาที่นักเรียนไทยต้องเผชิญกับการบ้านจำนวนมาก จนไม่มีเวลาอ่านหนังสือหรือทำไม่ทันส่ง

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดมุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับไทยพีบีเอสออนไลน์ โดยระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงอุปสงค์ (demand) - อุปทาน (supply) คือ เด็กมีการบ้านมาก คนที่ทำได้ก็พร้อมจะสนอง ดังนั้น สังคมไทยต้องตั้งคำถามว่า ทำไมการบ้านของนักเรียนถึงมากขนาดนี้ แล้วการบ้านเหล่านี้มีความหมายหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเช็กเพื่อให้คะแนน โดยไม่ได้มีการเสริมสร้างทักษะหรือช่วยฝึกฝนอะไร

บางครั้งปัจจัยอย่างหนึ่ง อาจมาจากการบ้านยากเกินไป มากเกินไป โดยส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากความเชื่อของผู้ปกครองที่คิดว่า เด็กไม่มีการบ้าน หมายถึงครูไม่ได้ทำงานเต็มที่ 

ผศ.อรรถพล ระบุว่า การเกิดอาชีพใหม่เช่นนี้ เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเด็กบางส่วนครอบครัวไม่ได้มีความพร้อมสำหรับสนับสนุนค่าใช้จ่าย บางคนยังต้องทำงานพิเศษช่วยเหลือที่บ้าน การให้การบ้านจำนวนมากเป็นการเพิ่มภาระให้เด็กกลุ่มนี้ ขณะที่เด็กส่วนหนึ่งที่ครอบครัวพร้อมจ่าย ก็ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ใช้เงินจ่ายจ้างทำการบ้าน เพื่อเพิ่มเวลาว่างให้กับลูก 

จริงๆ แล้วการจ้างทำการบ้านแบบนี้ เหมือนพ่อแม่กำลังสอนเด็กโกง หรือสร้างค่านิยมผิดๆ ว่าการทำสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา จนอาจกลายเป็นผู้ปกครองทำร้ายเด็กแทน

ต่างประเทศครูประชุมลดการบ้าน เพิ่มเวลาค้นหาตัวเอง

ผศ.อรรถพล ยกตัวอย่างโรงเรียนในต่างประเทศที่ไร้ปัญหาเรื่องการบ้าน เพราะครูแต่ละระดับชั้นจะประชุมประจำสัปดาห์เพื่อหารือและชี้แจงเกี่ยวกับการสั่งโครงงานหรือการบ้านนักเรียน เพื่อให้ครูทุกวิชาได้รับรู้ภาระงานเด็ก พร้อมต่อรองว่า หากมีโปรเจ็กยาวของวิชาใด ก็จะขอให้วิชาอื่นๆ ให้การบ้านเฉพาะงานที่สำคัญเท่านั้น ทำให้การบ้านของนักเรียนในต่างประเทศนับว่าน้อยมาก

ต่างประเทศให้การบ้านนักเรียนน้อยมาก เพราะครูประชุมกันทุกสัปดาห์ทำให้รู้การบ้านของเด็กล่วงหน้า เพื่อช่วยให้เด็กมีเวลาว่างเข้าร่วมชมรม เพื่อค้นหาตัวเอง แต่ในไทยครูไม่คุยกัน ประชุมเป็นนโยบายเท่านั้น 


อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามผลักดันประเด็นการลดการบ้านมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นคำสั่งในเชิงนโยบาย และไม่ได้มีการติดตามการทำงานอย่างจริงจัง ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเริ่มหันมาตั้งคำถามกับโรงเรียนหรือคนปฏิบัติแทน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว โดยครูต้องดีไซน์ห้องเรียนให้เป็นประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด พูดคุยกันให้มากขึ้น ไม่สั่งการบ้านโดยไร้ความหมาย และต้องมีการตรวจการบ้านอย่างละเอียด

แบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ เมื่อครูตรวจวิธีการทำก็จะสามารถรู้ได้ว่านักเรียนทำเองหรือไม่ รวมถึงการติดตามโครงงาน หรือสอบถามให้เด็กเล่างานของตัวเอง

ศธ.หนุนลดการบ้าน 7 ปี ยังไม่ชัด?

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบย้อนหลังนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ พบความพยายามในการลดการบ้านนักเรียนตั้งแต่ปี 2556 โดย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ในขณะนั้น ได้ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 กำหนดให้ครูในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ห้ามให้การบ้านนักเรียนตามใจชอบ โดยหากนักเรียนเดือดร้อนจากการบ้านที่มากเกินไปสามารถร้องเรียนได้ที่ สพฐ.เพื่อให้เกิดการปรับปรุง

ขณะที่ช่วงเดือน ธ.ค.2560 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.ในขณะนั้น ได้มีหนังสือเรื่อง แนวปฏิบัติการลดการบ้านของนักเรียน แจ้งไปยัง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต กำหนดเวลาใช้ทำการบ้านในแต่ละวันเพื่อลดความเครียดให้นักเรียน โดยแบ่งเป็น

  • ชั้น ป.1-3 ให้ทำการบ้านประมาณ 30 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
  • ชั้น ป.4-6 ให้ทำการบ้านประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที
  • ชั้น ม.1-6 ให้ทำการบ้านไม่เกิน 2 ชั่วโมง


ล่าสุด เมื่อเดือน ก.ย.2563 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากการบ้านให้กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาเรื่องการปรับลดการบ้านและลดการสอบวัดประเมินผลของนักเรียน ในส่วนของ สพฐ.ได้รับข้อสั่งการจาก รมว.ศึกษาธิการ มาให้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำรายละเอียดปรับปรุงแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม #รับจ้างทำการบ้าน ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ อาจกลายเป็นหนึ่งเสียงสะท้อนจากนักเรียนและนักศึกษาที่ยังคงต้องทำการบ้านจำนวนมาก จนจ่ายเงินเพื่อทางเลือกลดภาระงาน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"การบ้านมาก - คนรับจ้างเยอะ" ธุรกิจการศึกษาไทย 2020

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง