วัดความนิยม "ไบเดน-ทรัมป์" ในรัฐสมรภูมิผ่านผลโพล

ต่างประเทศ
3 พ.ย. 63
21:14
1,271
Logo Thai PBS
วัดความนิยม "ไบเดน-ทรัมป์" ในรัฐสมรภูมิผ่านผลโพล
สิ่งหนึ่งที่ถูกจับตามองในการเลือกตั้งทุกครั้ง คือผลสำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จนถึงนาทีนี้ผลสำรวจของหลายสำนักพบว่า "โจ ไบเดน" ยังมีคะแนนนิยมนำ "โดนัลด์ ทรัมป์"

วันนี้ (3 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลสำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ของ Economist/YouGov เมื่อวันที่ 31 ต.ค.- 2 พ.ย. โจ ไบเดน มีคะแนนนิยมทิ้งห่างโดนัลด์ ทรัมป์ มากถึง 10% ส่วน IBD/TIPP ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผลสำรวจที่แม่นยำที่สุดของอเมริกา ชี้ว่าทั้ง 2 คนมีคะแนนห่างกันเพียง 3% ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว IBD/TIPP เป็นหนึ่งในผลสำรวจเพียงไม่กี่สำนักที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คะแนนนำฮิลลารี คลินตัน

รัฐสมรภูมิ 4 รัฐ คือ เพนน์ซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน และฟลอริดา ไบเดนยังมีคะแนนนำในทุกรัฐ แต่ในรัฐฟลอริดาที่มีตัวแปรหลากหลาย ไบเดนมีคะแนนทิ้งห่างผู้นำสหรัฐฯ ไม่มากเพียงแค่ 1.8% เท่านั้น คำถามคือ ผลการสำรวจคะแนนนิยมมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หลังจากผลการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้วพลิกโผแบบหักปากกาเซียน

สาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากการสำรวจความเห็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัย ยังทำไม่มากพอ ทำให้ไม่เห็นถึงความได้เปรียบของผู้นำสหรัฐฯ ในรัฐสมรภูมิสำคัญ จนกระทั่งจวนเจียนจะถึงวันเลือกตั้ง

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในปี 2563 สำนักจัดทำผลสำรวจส่วนใหญ่แก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อความน่าเชื่อถือและความแม่นยำมากขึ้น

ที่สำคัญมีการตัดความได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐ Swing State มากขึ้น ครั้งก่อนคนตอบอย่างไรก็จะเฮไปทางนั้น แต่ครั้งนี้มีการตัดตัวแปรเหล่านี้ลงมา ให้ความสำคัญกับรัฐ Swing State ที่คะแนนบวกลบอยู่ตลาดเวลา ส่วนผลโพลของมลรัฐอื่นๆ ที่เป็นฐานเสียงของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ให้ความสำคัญมากเพราะนิ่งแล้ว

 

ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีตั้งแต่ปัญหาการใช้ความรุนแรงของตำรวจผิวขาว การเหยียดผิว ไปจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะประเด็นหลังมักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในการหาเสียงเลือกตั้ง และการประชันวิสัยทัศน์ทุกครั้ง สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในแถบมิดเวสต์ พื้นที่แถบนี้เป็นที่ตั้งของรัฐสมรภูมิอย่างน้อย 3 รัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสคอนซิน ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ก่อนหน้านี้ผลสำรวจของ Reuters/Ipsos ชี้ว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐสมรภูมิเชื่อมั่นในการรับมือ COVID-19 ของไบเดน แต่สำหรับการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ยังคงไว้วางใจในฝีมือของทรัมป์มากกว่าไบเดน ซึ่งผลสำรวจในลักษณะนี้ทำให้การฟันธงผู้ชนะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกันไป

ผลการเลือกตั้งไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมมาถึงอาเซียนและประเทศไทย ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นการดำเนินนโยบายของทรัมป์ที่เน้นการโดดเดี่ยวตัวเอง ทำลายระบบพันธมิตร แต่หากไบเดนชนะการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ซึ่ง รศ.สิริพรรณ ระบุอีกว่า หากไบเดนชนะตามผลสำรวจหลายสำนัก ย่อมส่งผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

สุดท้ายแล้วการรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไปยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วนอย่าง COVID-19 ที่กำลังวิกฤตอยู่ในขณะนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่? ชาวอเมริกันเลือก "ประธานาธิบดี" อย่างไร

COVID-19 ตัวแปรกำหนดชะตาผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่?

ปิดฉากหาเสียง "ทรัมป์" ประกาศกร้าวจะชนะสมัย 2

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง