เลือกตั้ง "เมียนมา" การเปลี่ยนผ่านที่ยุ่งยากจากวิกฤตโรคระบาด

ภูมิภาค
6 พ.ย. 63
10:07
421
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง "เมียนมา" การเปลี่ยนผ่านที่ยุ่งยากจากวิกฤตโรคระบาด
แม้วิกฤตโควิด-19 ในเมียนมา จะยังน่ากังวล ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ผู้ป่วยสะสมใกล้แตะ 6 0,000 คน แต่การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา ในวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย.นี้ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

การเลือกตั้งในเมียนมา ยังคงเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ล่าสุดผู้สมัคร ส.ส.ต่างเร่งลงพื้นที่หาเสียง โดยเฉพาะพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่พยายามสื่อสารให้ประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าไปทำหน้าที่ในสภา แก้ปัญหาปากท้อง และขับเคลื่อนกระบวนการสร้างสันติภาพ

 

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.เมียนมา กลับเป็นองค์กรที่ถูกจับตามอง กรณียกเลิกการเลือกตั้งในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่น้อยกว่า 50 เขต ทำให้ประชาชนกว่า 1,300,000 คน ไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และการลงคะแนนเสียงล่วงหน้าที่เปิดโอกาสให้ผู้มีอายุเกิน 60 ปี ลงคะแนนเสียงล่วงหน้าได้ อาจเอื้อประโยชน์ให้บางพรรค

 

ผศ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร หัวหน้าโครงการศึกษาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ระบุว่า หัวเลี้ยวหัวต่อ ที่สำคัญ คือการที่กองทัพออกแถลงการณ์ แสดงความผิดหวังต่อการจัดการเลือกตั้งของ กกต. เมื่อวันที่ 3 พ.ย. หลังพบปัญหารายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่เรียบร้อย การจัดการเลือกตั้งในสภาวะวิกฤต COVID-19 ที่ไม่สามารถทำให้เกิดความเสรี และยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

 

รวมทั้งตอกย้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้การเปลี่ยนผ่านทางด้านการเมือง มีความยุ่งยาก และล้มเหลวมากที่สุด ซึ่งถือเป็นท่าทีที่แข็งกร้าวของกองทัพ สะท้อนว่าการเปลี่ยนผ่านอำนาจหลังวันเลือกตั้งคงจะไม่ได้ราบรื่น

และแม้การเลือกตั้งครั้งนี้ จะไม่มีข้อครหาเหมือนการเลือกตั้งในอดีต ในเรื่องพรรครัฐบาลมีกองทัพหนุน แต่กลับมีการใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวาง มีเหตุทำร้ายผู้สมัคร และจับตัวผู้สมัครเป็นตัวประกัน

 

ส่วนกรณีพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจจะเป็นตัวแปรหลักในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปัจจุบัน พรรคเหล่านี้ก็แตกเป็นหลายสาย บางพรรคสนับสนุนพรรค NLD บางพรรคสนับสนุน USDP หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเอง ก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นเอกภาพเสมอไป

 

ทั้งนี้การเมืองของเมียนมา หลังการเลือกตั้ง ที่อาจไม่มีเสถียรภาพ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระบวนการสันติภาพ โดยการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่า ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ประชาชนเริ่มกังวลถึงความปลอดภัย และการปะทะของกำลังติดอาวุธ

 

นายคืนใส ใจเย็น ผอ.สถาบันปีดองซูเพื่อสันติภาพ และการเจรจา และที่ปรึกษาของคณะอำนวยการกระบวนการสันติภาพ PPST ระบุว่า การเลือกตั้งเมียนมาครั้ง สามารถจำลองรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลได้ 3 รูปแบบ

 

1.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย NLD ของนางอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งทั้งสองสภา และจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
2.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย NLD ไม่ได้เสียงข้างมาก และต้องร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์
3.พรรคสหภาพเพื่อเอกภาพ และการพัฒนา USDP ที่มีกองทัพหนุนหลัง ร่วมจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์

 

นายคืนใสระบุว่า โอกาสที่ พรรค NLD จะชนะเลือกตั้ง แม้จะเป็นไปได้ แต่จะไม่ง่ายนัก เนื่องจากการบริหารบ้านเมือง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เป็นที่พอใจ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกระบวนการสันติภาพ ที่ยังไม่เกิดขึ้น การสู้รบรุนแรงมากกว่าเดิม ฉะนั้นในรัฐต่างๆ ผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคชาติพันธุ์ของตัวเอง จึงน่าจะมีมากกว่า

 

รูปแบบ การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงมีความเป็นไปได้สูงมาก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ในประเทศเมียนมา เปรียบได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ แม้จะไม่สามารถเป็นคิง แต่จะเป็นผู้ถือมงกุฎ ซึ่งจะมอบให้ใครระหว่าง NLD หรือ USDP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง