วันนี้ (7 พ.ย.2563) กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายเพศ เริ่มเดินขบวนออกมาจากแยกสามย่านหน้าตึกสามย่านมิตรทาวน์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ซึ่งวันนี้รวมตัวกันในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เสรีเทยพลัส" นำโดย นายสิรภพ อัตโตหิ หรือ "แรพเตอร์" ได้ร่วมกันเดินขบวนไปสีลม เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางเพศในสังคม เป็นรูปแบบการเดินขบวนที่ผู้จัดงานเรียกชื่อกิจกรรมนี้ว่า "ม็อบตุ้งติ้ง 2" ในธีม "ไพร่พาเหรด" ใช้เส้นทางถนนพระราม 4 ผ่านแยกอังรีดูนังต์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนสีลม ที่แยกศาลาแดง


สำหรับกลุ่มเสรีเทยพลัส เคยจัดกิจกรรมครั้งแรก ไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รูปแบบกิจกรรม ที่ผู้จัดเรียกว่า "ม็อบไม่มุ้งมิ้ง แต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล" โดยได้ประกาศจุดยืนและข้อเรียกร้อง 3 ประการ ที่เป็นแนวทางเดียวกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก คือ 1.ยุบสภา 2. หยุดคุกคามประชาชน และ 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งครั้งนั้นยังเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้บุคคลทุกเพศสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย หรือ "สมรสเท่าเทียม" ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย

ขณะเดียวกันประเด็นสมรสเท่าเทียม ยังต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 21 ธ.ค.2563 ที่ศาลฯ จะวินิจฉัยว่าการไม่ให้คู่รักหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสกันนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2563 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สมควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดให้การสมรสกระทำได้ระหว่างชายกับหญิง เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4, 5, 25, 26 และ 27 หรือไม่
โดยให้มีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปนั้น และศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังผลการวินิจฉัยวันที่ 21 ธ.ค.2563 เวลา 09.00 น.
เฟมทวิตแดนซ์ “สีดาลุยไฟ” เรียกร้องสิทธิสตรี
ขณะที่บรรยากาศการเปล่งเสียง ย่ำเท้าตามจังหวะ พร้อมแสดงท่าทางประกอบอย่างพร้อมใจ ใต้ใบหน้าที่ปิดไว้ด้วยผ้าดำคาดตา บ่งบอกถึงการไม่ยอมจำนนต่อพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ และอำนาจที่กดทับสิทธิสตรีทุกรูปแบบ ในเพลง “สีดาลุยไฟ” ของกลุ่ม “เฟมทวิต” หนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมม็อบตุ้งติ้ง 2 เดินขบวนจากแยกสามย่านไปสีลม เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี ด้วยท่าเต้นและบทเพลง ตั้งคำถามและสะท้อนปัญหาวัฒนธรรมละเมิดและกล่าวโทษหญิงที่ยังคงมีในแทบทุกสังคม

การใช้บทเพลงและท่าเต้น สื่อสาร-ตอบโต้การคุมคามทางเพศ ซึ่งทำให้ผู้ถูกกระทำอับอาย รวมทั้งโครงสร้างอำนาจที่ละเมิดสิทธิสตรีในทุกพื้นที่ มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มผู้ประท้วงหญิงในประเทศชิลี เต้นประกอบเพลง “Un Violador en Tu Camino” หรือ “A Rapist in Your Path” ในพื้นที่สาธารณะ เมื่อปลายเดือน พ.ย.2562 จนกลายเป็นไวรัล สร้างแรงบันดาลใจให้เฟมินิสต์ทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวกว่า 360 ครั้ง โดยใช้วิดีโอและท่าเต้นประกอบเพลงเป็นสื่อ ทั้ง อาเจนติน่า ฝรั่งเศส ตุรกี อินเดีย สหรัฐฯ และ ไทยได้ร่วมปักหมุด เป็นประเทศ ที่ 53 ผ่านเพลง สีดาลุยไฟ หวังยุติความเชื่อและความรุนแรงที่หญิงมักถูกกล่าวโทษ สู่ความเปลี่ยนแปลงทาง ที่เป็นมากกว่าบทเพลงและการประท้วง
ส่วนหนึ่งของความไม่เท่าเทียมทางเพศและสังคมที่ถูกย้ำถึงผ่านสีดาลุยไฟ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทเพลงประท้วงของชิลี ไม่เพียงแสดงศักยภาพของการใช้ศิลปะมาเป็นสื่อกลางระดมคน ขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางอย่างสร้างสรรค์ ตามแนวคิดวัฒนธรรมศึกษา
หากยังสะท้อนว่า การล่วงละเมิดใช่แค่ปัญหาศีลธรรม หรือ อาชญากรรม ที่คนใดคนหนึ่งที่ต้องแบกรับ แต่เป็นปัญหาทางการเมือง และปัญหาสังคมที่ใหญ่กว่านั้น