วิเคราะห์ 15 ชาติลงนาม RCEP หลังผลักดัน 8 ปี

เศรษฐกิจ
15 พ.ย. 63
19:39
3,340
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ 15 ชาติลงนาม RCEP หลังผลักดัน 8 ปี
8 ปีบรรลุความสำเร็จ 15 ชาติภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเป็นการลงนามทางออนไลน์ คาดหวังช่วยฟื้นเศรษฐกิจหลัง COVID-19

วันนี้ (15 พ.ย.2563) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ไทยได้ร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีผู้นำประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้การลงนามครั้งนี้ จัดผ่านระบบออนไลน์

การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศความสำเร็จของการเจรจาความตกลง RCEP หลังจากความพยา ยามทุ่มเทเกือบ 8 ปี โดยผู้นำได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงครั้งนี้ ความมุ่งมั่นของสมาชิกที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุน ที่เปิดกว้างครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยความตกลง RCEP จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ผ่านกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดที่เข้มข้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ และสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ผู้นำ RCEP ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งกระบวนการภายใน สำหรับการให้สัตยาบันความตกลง เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งความตกลงจะมีผลเมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลง

รู้จักความตกลง RCEP

ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ซึ่งประกอบด้วย 20 บท เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น จากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้าตลอดจนมีเรื่องใหม่ๆ เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ความตกลงอาร์เซ็ปเป็นเอฟทีเอ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยข้อมูลทางการค้าในปี 2562 ความตกลง RCEP ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก 

ในขณะเดียวกัน สมาชิกRCEP ยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจา RCEP ตั้งแต่ปี 2555

วิเคราะห์ ไทยเข้า RCEP 

สำหรับการลงนามในข้อตกลง RCEP ในช่วงเวลานี้ ถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าครั้งไหนๆ เนื่องจากทั้งโลกต่างก็เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน ดังนั้นความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยกู้วิกฤตเศรษฐกิจของอาเซียน คุณเสาวลักษณ์ อะไรทำให้หลายฝ่ายมั่นใจว่า RCEP ช่วยได้

ข้อแรกคือ การเปิดให้ประเทศสมาชิกสามารถซื้อขายสินค้าและบริการได้อย่างเสรี ปราศจากกำแพงภาษี และที่สำคัญอาเซียนอาจจะได้อานิสงค์จากประเทศจีน ที่ถือเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ได้สำเร็จ

การลงนามในข้อตกลง RCEP ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเชื่อมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าสู่เศรษฐกิจ

คำว่า RCEP ย่อมาจากคำว่า Regional Comprehensive Economic Partnership หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP ถือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศสมาชิกประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่อินเดียได้ถอนตัวออกไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากกังวลปัญหาสินค้าราคาถูกจากจีน จะไหลทะลักเข้าประเทศ รวมทั้งการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีนในภูมิภาค แต่ถึงจะไม่มีอินเดีย ความร่วมมือนี้ก็ยังมีความสำคัญมากอยู่ดี

RCEP มีประชากรรวมกันประมาณ 2,100 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP คิดเป็นร้อยละ 30 ของทั้งโลกหรือ 1 ใน 3 ของทั้งโลก

การเจรจา RCEP เริ่มตั้งแต่ปี 2555 เป้าหมายของการก่อตั้ง RECP คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน เป็นระบบการค้าเสรีที่ใช้กฎระเบียบเดียวกันของภาคีทั้งหมด 15 ประเทศ

เชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน-ศก.โลก

นอกจากนี้ ยังเป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยครอบคลุมทุกมิติการค้า ทั้งด้านสินค้า บริการ ลงทุน มาตรการการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้าและการลงทุน ให้สอดคล้องและมีความสะดวกทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น

และการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการระบาด ยิ่งทำให้ RCEP มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อย มองว่าRCEP จะกลายเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

เศรษฐกิจทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาคต่างเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทาย ที่ไม่ได้เกิดจากการระบาดของ COVID-19 แต่ยังเกิดจากการค้าขายในระดับโลกที่ลดลง

นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวอีกว่า ดังนั้นการลงนามในข้อตกลง RCEP จึงเป็นการส่งข้อความว่าอาเซียนจะมีบทบาทนำ สนับสนุนระบบการค้าที่หลากหลาย สร้างเครือข่ายการค้ารูปแบบใหม่ในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมการค้าให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ RCEP ดูเหมือนเป็นกลไกการค้าที่น่าจะช่วยฉุดอาเซียนให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ คือประเทศจีน ซึ่งตอนนี้จีนสามารถฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ได้เป็นประเทศแรกของโลก โดยจีดีพีในไตรมาส 3 ของจีนเติบโตขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่หลายประเทศคาดการณ์ว่า จีดีพีอาจจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย หรืออาจจะติดลบด้วยซ้ำ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง