ภายหลังบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประกาศผลการทดลองวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในคนระยะที่ 3 พบว่า วัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันเฉลี่ยร้อยละ 70 และได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ตั้งเป้าผลิตวัคซีนให้กับทั่วโลก 3,100 ล้านโดสต่อปี
วันที่ 24 พ.ย.2563 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตลงกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมผลิต โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะเป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี คาดว่าหลังจากนี้ 6 เดือน จะเริ่มผลิตและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยจะใช้ได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564
ประเทศไทยได้จองซื้อและผลิตที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ฯ จำนวน 26 ล้านโดส สำหรับคนไทย 13 ล้านคน ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่น โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังการผลิตปีละ 180-200 ล้านโดส หรือเดือนละ 15 ล้านโดส เมื่อสามารถผลิตวัคซีนได้แล้ว กรมควบคุมโรคจะจัดซื้อและกระจายให้กลุ่มเป้าหมาย โดยจัดทำแผนการใช้วัคซีนว่า แต่ละเดือนมีความต้องการจำนวนเท่าใด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค คาดว่า ประเทศไทยต้องการวัคซีนเดือนละ 2 ล้านโดส เพราะวัคซีนมีอายุสั้น จึงต้องตรวจสอบใช้และการผลิตให้สอดคล้องกัน คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ติดเชื้อและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ แม้เป้าหมายต้องการให้คนไทยทั้ง 70 ล้านคน ได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 แต่ 1 คน ต้องฉีด 2 เข็ม หรือต้องเตรียมวัคซีน 140 ล้านโดส
ในความเป็นจริงการหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทย 140 ล้านโดสในคราวเดียวกันเป็นเรื่องยาก วัคซีนล็อตแรกจึงต้องจัดสรรให้กลุ่มที่มีความจำเป็นก่อน
แท็กที่เกี่ยวข้อง: