THE EXIT : มองต่างมุม "เขื่อนกันคลื่น"

สิ่งแวดล้อม
8 ธ.ค. 63
18:28
1,069
Logo Thai PBS
THE EXIT : มองต่างมุม "เขื่อนกันคลื่น"
4 ปีโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะ ถูกเสนอผ่านหน่วยงานท้องถิ่นส่วนกลางกว่า 70 โครงการ แต่เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามจากนักอนุรักษ์ ว่าการใช้โครงสร้างแข็งได้ผลจริงหรือไม่ ขณะที่ชาวบ้านหาดสมบูรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับผลกระทบมองว่าเขื่อนแก้กัดเซาะยังจำเป็น

กว่า 5 ปี แล้วที่ครอบครัวของ เรวัตร แซ่ลิ้ม ชาวบ้านหาดสมบูรณ์ ต.วัง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ย้ายบ้านมาอยู่ในที่ดินเช่าของวัด เพราะบ้านหลังเดิมที่อยู่ติดกับชายหาด ถูกคลื่นกัดเซาะ จนไม่สามารถพักอาศัยต่อได้ เขาและเพื่อนบ้านอีกกว่า 20 หลังคาเรือน จึงต้องย้ายมาอาศัยพื้นที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินวัดแทน

THE EXIT สำรวจสภาพของหาดสมบูรณ์ ที่ชาวบ้านอ้างว่าก่อนหน้านี้เคยมีบ้านตั้งอยู่กว่า 40 หลัง แต่หาดถูกกัดเซาะ จึงจำเป็นต้องย้ายออกจากพื้นที่ เสาบ้าน ที่จมอยู่ในน้ำ คือแนวเขตชี้ชัดว่าที่ดินบริเวณนี้ถูกกัดเซาะเข้ามาไม่น้อยกว่า 50 เมตร

 

ปัจจุบันมีบ้านไม่กี่หลัง ที่ยังคงอาศัยอยู่บริเวณหน้าหาดสมบูรณ์ ชาวบ้านที่เดือดร้อน เคยรวบรวมเงิน จ้างรถแบ็คโฮ ขุดทรายทำแนวกันคลื่น พื้นที่บางส่วนที่เหลือยู่ จึงไม่ถูกกัดเซาะ

ชาวบ้านหาดสมบูรณ์ ต.วัง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานีบอกว่า ย้ายมาเพราะบ้านพัง ทะเลกัดเข้ามา บ้านลงคลองไปในปี 54 เหลือแค่เสา 

 

นายเรวัตร แซ่ลิ้ม ชาวบ้านหาดสมบูรณ์ ต.วัง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี บอกถึงปัญหาที่ต้องเผชิญ ทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ เห็นด้วยหากจะมีโครงการก่อสร้างแนวกันคลื่น เพื่อชะลอการกัดเซาะ


ที่นี่มีบ้านยื่นในทะเล 20 กว่าวา และความยาวแนวชายหาดยาวไปอีก 2-3 กิโลเมตร แต่ตอนนี้ โดนน้ำทะเลกัดเซาะจนเป็นปากคลอง จุดใหม่ทำให้พื้นที่หมู่ที่ 3 หายไป และยังยืนยันว่าชาวบ้านต้องการเขื่อนแก้กัดเซาะชายฝั่ง
  

 

รายละเอียดโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะ จากเอกสารรับฟังความคิดเห็น มีมติเลือกใช้เขื่อนแบบหินใหญ่เรียง (Revetment) ความยาวรวม 790 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 5 เมตร ความสูง 3 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือใกล้เคียงกับถนนเลียบชายฝั่งในปัจจุบัน

ชั้นที่ 1 ด้านบนสุด ความหนา 1 เมตร 70 เซนติเมตร มีการใช้หินขนาด 85-90 เซนติเมตรต่อก้อนหินชั้นที่ 2 หรือชั้นกลาง มีความหนาของชั้นหิน 80 เซนติเมตร ใช้หินขนาด 40–45 เซนติเมตรต่อก้อน

 

ชั้นล่างสุดมีความหนา 20 เซนติเมตร ใช้หินขนาด 10 - 20 เซนติเมตรต่อก้อน วางบนแผ่นใยสังเคราะห์ชนิดถักทอ (WovenGeotextile) นอกจากนี้ยังมีส่วนของบันไดคอนกรีต เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงหาด และทางลาดสำหรับเรือประมงขึ้น-ลง บริษัท เอส ซี จี 1995 จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการดังกล่าว ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 52,139,900 บาท

โครงการนี้เคยถูกชาวบ้านในนามกลุ่มเครือข่ายอ่าวรักษ์บ้านดอน และประมงพื้นบ้านยื่นหนังสือคัดค้านที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.สุราษฎร์ธานี แต่พบว่าภายหลังมีการถอดถอนข้อร้องเรียนออกไป

 

บางแห่งไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างแก้กัดเซาะ

นายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ก่อตั้งกลุ่มบีชออฟไลฟ์ เป็นอีกคน ที่มองว่าการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่หาดสมบูรณ์ยังไม่จำเป็น ด้วยเหตุผลว่า การกัดเซาะที่เกิดขึ้น ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับความกว้างของแนวชายหาด และอาจจะไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่อาจจะตามมาจากการสร้างกำแพงกันคลื่น จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ด้วยโครงการดังกล่าว เป็นความต้องการของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จึงไม่สามารถปฏิเสธได้

บางพื้นที่ไม่ได้มีปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะรุนแรง แต่มีสภาพหาดสมบูรณ์ มีเสถียรภาพ แต่มีสร้างกำแพงกันคลื่น เพราะผู้ปฏิบัติงาน เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง มักจะบอกว่าเป็นร้องขอของท้องถิ่นประสบปัญหา ไมมีงบประมาณจึงต้องขอโครงการจากส่วนกลาง  

มีโครงการ 47 แห่งในหลายจังหวัด

จากข้อมูลของกรมโยธาธิการและฝังเมือง และกรมเจ้าท่าพบว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2562 มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้นบนชายหาดในประเทศไทย จำนวน 74 โครงการ

นักอนุรักษ์ มองว่า ตัวเลขโครงการที่เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับการที่ "กำแพงกันคลื่น" ถูกถอดถอนชื่อ ออกจากโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ทำให้การอนุมัติเดินหน้าโครงการในแต่ละแห่ง ไม่สามารถประเมินความเสี่ยง ถึงผลกระทบที่จะตามมาได้

การมีอยู่ของ EIA ในเรื่องกำแพงกันคลื่นเป็นการประกันหลักตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้ามีความเสียหายจากการพัฒนาจะมีการฟื้นฟูเยียวยาอย่างถูกต้อง แต่ถ้าถอนเรื่องนี้ออกเพื่อให้เร็วในขั้นตอนการทำงาน แต่เป็นการทำลายหลักประกันสิทธิตรงนี้ 
  

 

ในมุมมอง ผู้ก่อตั้งกลุ่มบีชออฟไลฟ์ ยังเชื่อว่า แต่ละพื้นที่มีความเหมาะสมกับรูปแบบแก้ปัญหากัดเซาะที่แตกต่างกัน เช่น พัทยา ใช้วิธีถมทราย ปัจจุบันพื้นที่ชายหาดกว้างมากขึ้น นอกจากจะลดการกัดเซาะแล้วทรัพยากร ยังฟื้นตัวเองโดยธรรมชาติ

การเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่ ได้ศึกษาอย่างรอบด้าน และเลือกรูปแบบที่เหมาะสม น่าจะเป็นทางออกของเรื่องนี้ มากกว่าแค่การสร้าง "กำแพงกันคลื่น"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง