THE EXIT : เปลี่ยน EIA นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว

ภูมิภาค
14 ธ.ค. 63
19:37
1,226
Logo Thai PBS
THE EXIT : เปลี่ยน EIA นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว
กนอ.มีแผนเปลี่ยนนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้วให้สามารถตั้งโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการกำจัดขยะเพื่อดึงดูดนักลงทุน แนวคิดนี้นำไปสู่การแก้ไข EIA ทำให้ชาวบ้านตั้งคำถามต่อ กนอ.ว่าเคยให้คำมั่นว่า นิคมฯแห่งนี้จะปราศจากโรงงานที่มีปล่องควัน

ไทยพีบีเอสติดตามผู้ใหญ่บ้านป่าไร่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สำรวจพื้นที่บริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนขอแก้ไขรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สามารถตั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF อยู่ในขณะนี้

 

บริเวณถนนด้านหลังนิคมอุตสาหกรรมในตำบลป่าไร่ เป็นจุดที่ผู้ใหญ่บ้านคาดว่าน้ำจากนิคมอุตสาหกรรมจะถูกปล่อยผ่านอุโมงค์มาลงยังคลองที่เห็นอยู่นี้

 

ชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า "คลองคูเลต" เป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านหลายครอบครัวใช้ทำการเกษตร หนึ่งในนั้นคือ นายโสด สมบูรณ์ อายุ 55 ปี ชาวบ้านหนองหมากบี้ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งใช้น้ำในการเลี้ยงปลาต้องพึ่งพาน้ำจากคลองคูเลตทำให้นายโสดไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข EIA ให้กิจการที่เกี่ยวข้องกับกากอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพราะมองว่า หากน้ำมีสารพิษปนเปื้อน ปลาที่เลี้ยงไว้อาจได้รับผลกระทบ

ปลาพวกนี้เป็นปลาในกระชังที่ต้องใช้น้ำสะอาด แค่ฝนตกไหลมาถึงเสร็จ ก็ไม่ต้องเอาเลย ตื่นเช้ามาก็ตายลอยทั้งบ่อ ตอนนี้ที่ทำบำบัดน้ำปีละ 1 ครั้ง ไปซื้อยามาใส่เพราะปลาต้องอยู่ในน้ำสะอาด

นายสำรวย แก้วประสิทธิ์ กำนัน ต.ป่าไร่ ให้ข้อมูลว่า แต่เดิมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีข้อกำหนดที่ระบุในเอกสาร EIA ของโครงการว่าไม่อนุญาตให้โรงงานที่มีกระบวนการผลิตหรือเผาหรือเผาไหม้เชื้อเพลิงและระบบการระบายออกทางปล่องเข้ามาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้

 

จนกระทั่งในเดือน มิ.ย.63 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านขึ้นอีกครั้งที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประเภทโรงงานที่สามารถเข้ามาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมได้ ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กขั้นกลางและขั้นปลาย , กลุ่มพลังงานไฟฟ้าทางเลือก ได้แก่ โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF หรือ เชื้่อเพลิงจากขยะที่เผาไหม้ได้ , โรงงานหม้อเก็บพลังงานไฟฟ้าหรือหม้อกำหนดไฟฟ้าชนิดแห้ง เป็นเหตุให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขEIA ลักษณะดังกล่าวเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่อาจตามมา

มันสามารถพิสูจน์ได้ว่า EIA บอกไปแล้วว่า โรงงานที่เป็นมลภาวะไม่ให้ก่อสร้าง ซึ่งโรงไฟฟ้าขนาดนี้เป็นโรงงานไฟฟ้าที่ EIA ชุดแรกบอกไปแล้วว่าเป็นกลุ่มที่สร้างมลภาวะ

นายธาดา สุนทรพันธุ์ รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากว่าเราพบข้อจำกัดของ EIA เดิม ที่เราได้กำหนดประเภทอุตสาหกรรมที่ห้ามตั้งในพื้นที่แต่คือว่า อุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตหรือมีการใช้การเผาไหม้ทางเชื้อเพลิงและมีระบบการระบายทางปล่องไม่สามารถจัดตั้งในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วได้ ซึ่งทำให้โรงงานทั่วไปซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็กที่ต้องมีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง หรือ Boiler ไม่สามารถเข้ามาประกอบกิจการในนิคมฯได้ ทำให้เรามีแนวคิดที่จะศึกษาว่า หากมีการแก้ไขชนิดหรือประเภทของโรงงานจะทำให้นิคมฯมีช่องทางที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้วของเราทำให้นักธุรกิจมีความสนใจเพิ่มมากขึ้น

แม้มีเสียงคัดค้านในพื้นที่แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนให้การสนับสนุนการแก้ไข EIA นางบุญหนา สวัสดี อายุ 65 ปี ชาวบ้านป่าไร่ใหม่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศไทย จ.สระแก้ว มีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งเธอบอกว่า ทุกครั้งไม่เคยเห็นว่ามีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ทำให้เธอตัดสินใจสนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมองว่าหากมีโรงงานเข้ามาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่โดยรอบยอมได้รับการพัฒนาตามไปด้วย

ถ้าจะให้เป็นสีเขียวอย่างเดิมมันก็เป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นสีเขียวใบไม้ไม่ใช่สีเขียวโรงงาน เพราะมันปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นหมด ไม่มีใครมาสร้างอะไร แต่หากเป็นโรงงานสีม่วงขึ้นมาและรอบ ๆ เรามีสีเขียวอยู่แล้วใช่มั้ย มันก็คงไม่ผิดแปลกกันไปเท่าไหร่หรอก ดีกว่าทิ้งเอาไว้เฉย ๆ ไม่มีประโยชน์ มันจะร้างแล้วมันจะทิ้งงบประมาณไปแล้วทำไมเราจะไม่สานต่อให้มันเกิดประโยชน์

ปัจจุบัน การแก้ไข EIA ของนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือน มิ.ย.63 โดยรองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกและคาดว่าจะใช้เวลาราว 6 - 8 เดือนก่อนจะได้ข้อยุติ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง