สิงคโปร์โมเดลแก้ COVID-19 "แรงงานข้ามชาติ"

ต่างประเทศ
25 ธ.ค. 63
20:06
943
Logo Thai PBS
สิงคโปร์โมเดลแก้ COVID-19 "แรงงานข้ามชาติ"
รู้จัก "สิงคโปร์โมเดล" แก้ปัญหา COVID-19 กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไทยนำมาใช้นำร่องที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร หลังพบปัญหาแรงงานเมียนมาติดเชื้อจำนวนมาก นักวิชาการแนะต้องรู้แหล่งอาศัย แหล่งทำงานและมีข้อมูลเชิงสถิติที่เป็นระบบใช้ในการติดตามตัว

การพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ในจ.สมุทรสาคร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สปอตไลต์จับจ้องไปยังกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หลังจากผลการตรวจคัดกรองเชิงรุก พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นำไปสู่การนำสิงคโปร์โมเดล มาปรับใช้กับประเทศไทย

ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มแรงงานข้ามชาติกลายเป็นแหล่งการระบาดใหญ่ของสิงคโปร์ จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แต่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ในเวลาอันรวดเร็ว จนกลายเป็นแม่แบบให้ไทยนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาครั้งนี้

โมเดลคุม COVID-19 สิงคโปร์สู่ไทย

ศ.ยิก-อิง เตียว คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.แห่งชาติสิงคโปร์ สรุปแนวทางของสิงคโปร์ 3 ข้อแนวทางแรก คือ การมีระบบจัดเก็บข้อมูลแรงงานข้ามชาติทุกคนอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัว เนื่องจากการการเข้าออกของแรงงานข้ามชาติในสิงคโปร์เป็นระบบ และมีบริษัทดูแลแรงงานเป็นกิจจะลักษณะ

แนวทางที่ 2 คือ การสำรวจพฤติกรรมของแรงงานข้ามชาติว่ามักจะไปกินข้าว ซื้อของ และมีปฏิสัมพันธ์กับใคร โดยการสำรวจพฤติกรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการติดตามหาตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดกับแรงงานข้ามชาติ และแนวทางที่ 3 คือ การดูแลแรงงานข้ามชาติ การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการตรวจหาเชื้อเป็นประจำ

เริ่มตั้งแต่การควบคุมแรงงานที่ติดเชื้อ COVID-19 ไว้ในเขตหอพัก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้าง และคัดแยกแรงงานที่ร่างกายแข็งแรง ออกจากหอพักไปอาศัยในจุดที่รัฐบาลจัดไว้ให้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

นอกจากนี้ยังมีการการปรับเรือสำราญ 2 ลำ เป็นที่พักชั่วคราว สำหรับแรงงานที่เข้ารับการรักษา จนไม่เหลือเชื้อไวรัสในร่างกาย การตรวจหาเชื้อในกลุ่มแรงงาน เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ และ การกักตัวแรงงาน ที่เดินทางเข้ามาใหม่ 14 วัน รัฐบาลอำนวยความสะดวกเรื่องอาหาร อินเทอร์เน็ต และค่าจ้างสำหรับแรงงานที่ทำงานไม่ได้เพราะต้องกักตัว

นอกจากนี้ยังส่งหน่วยแพทย์ไปตามหอพักของแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้คำปรึกษา และตรวจหาเชื้อ โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในระยะแรก และให้นายจ้างรับไม้ต่อหลังจากสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ แรงงานข้ามชาติจะได้รับอุปกรณ์พกพา Contact Tracing เพื่อให้ติดตามเส้นทางการสัมผัสเชื้อได้ง่ายมากขึ้น

แม้ว่าควบคุมแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวดจะทำให้รัฐบาลควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว แต่หน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ มองว่า มาตรการต่างๆ ละเมิดสิทธิแรงงานมากเกินไป 

ต้องรู้แหล่งอาศัย-สถิติแรงงานอย่างเป็นระบบ

การนำสิงคโปร์ โมเดล มาปรับใช้ยังเป็นโจทย์ท้าทาย เนื่องจาก 2 ประเทศมีความแตกต่างกันในหลายมิติ แรงงานข้ามชาติของสิงคโปร์เดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รู้จำนวนแน่ชัด ควบคุมโรคได้ง่าย ขณะที่ไทยยังคงเผชิญปัญหาแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้ามาทำงานจำนวนมากและกระจายไปทั่วประเทศ อาจารย์เตียว บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการควบคุมโรคให้ได้ผล คือ การเก็บรวบรวมข้อมูล อย่างเป็นระบบ

การมีเอกสารเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติสำคัญมาก การรู้ว่าแหล่งอาศัย ทำงานอะไร เป็นใคร มาจากไหน ทำให้การควบคุมและการวางแผนง่ายขึ้น ดังนั้นต้องมีแนวทางในการจัดการข้อมูล และสถิติต่างๆของแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ

สิ่งที่น่าสนใจ คือสิงคโปร์โมเดล จะมีประสิทธิภาพในการควบคุม COVID-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติมากแค่ไหน แต่อย่าลืมว่า สิงคโปร์โมเดล ไม่ใช่แค่การคัดแยกแรงงาน แต่ยังรวมถึงการปรับปรุงความเป็นอยู่ของแรงงานด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง