วันนี้ (8 ก.พ.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อสะสม 106,677,372 คน หายป่วยสะสม 78,375,433 คน และเสียชีวิตสะสม 2,326,819 คน โดยสหรัฐฯ ยังมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 27 ล้านคน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 114 ของโลก
ขณะที่สถานการณ์ในไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 186 คน แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 176 คน และติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 คน ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสม 23,557 คน รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 6,068 คน หายป่วยแล้ว 17,410 คน เสียชีวิตคงที่ 79 คน โดยผู้ติดเชื้อใหม่มาจาก จ.สมุทรสาคร 163 คน คิดเป็น 92.61 % ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด รองลงมาคือ กทม. จำนวน 3 คน คิดเป็น 1.71 % และจังหวัดอื่น คือ นครปฐม ปทุมธานี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม รวม 10 คน คิดเป็น 5.68 %
ส่วนการคัดกรองเชิงรุกพบที่ จ.สมุทรสงคราม 4 คน และสมุทรสาคร 31 คน โดยขณะนี้ จ.สมุทรสาคร ยังคัดกรองเชิงรุกในชุมชนรวมถึงโรงงานที่มีการรายงานติดเชื้อน้อยกว่า 10 % อย่างต่อเนื่อง หลังคัดกรองโรงงานขนาดใหญ่ที่มีรายงานการติดเชื้อมากกว่า 10 % ครบแล้ว โดยจะตรวจประมาณ 100 - 150 ตัวอย่างต่อวันต่อ 1 โรงงาน หรือ 5,000 ตัวอย่างต่อวัน
สถานการณ์ทั่วไทยภาพพื้นที่สีขาวเพิ่มมากขึ้นในวันที่ 7-8 ก.พ. 64 โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อใน 7 จังหวัดทั่วไทย
เร่งสอบสวนโรคอัมพวา
สำหรับการแพร่ระบาดในพื้นที่เขตอัมพวา พบผู้ติดเชื้อคนแรกเป็นแม่ค้าขายหมูที่มีบ้านพักในอัมพวา จ.สมุทรสงคราม แต่เดินทางไปหลายพื้นที่ โดยขายหมูอยู่ที่ตลาดรถไฟ จ.สมุทรสาคร แต่ไปรับหมูที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พบติดเชื้อวันที่ 28 ม.ค. จากนั้นครอบครัวไปตรวจหาเชื้อ พบลูกสะใภ้ติด COVID-19 วันที่ 30 ม.ค.
สิ่งที่น่าสนใจของรายนี้ คือ แม่ค้าเดินทางจากอัมพวาไปกลับ จ.สมุทรสาคร ทำให้มีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งในจังหวัด ตลาด ครอบครัว ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. - 4 ก.พ.ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ติดเชื้อในกลุ่มเดียวกันถึง 87 คน และในจำนวนนี้เชื่อมโยงไปในหลายจังหวัด เนื่องจากแม่ค้าในตลาดส่วนใหญ่ขายขายที่หนึ่ง บ้านอยู่อีกที่หนึ่ง และใช้การสัญจรด้วยขนส่งสาธารณะ
ผู้ติดเชื้อ 87 คน ข้อมูลเบื้องต้น แบ่งเป็น จ.สมุทรสาคร 22 คน เพชรบุรี 5 คน กทม. ราชบุรี และสุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 คน และอีก 3 คน ไม่สามารถระบุจังหวัดได้
จุฬาฯ พบ 3 จนท.ติดโควิด เฝ้าระวังอีก 9 คน
พญ.อภิสมัย ระบุอีกว่า สำหรับในพื้นที่ กทม.มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบื้องต้น มีรายงานว่า ขณะนี้พบผู้มีแนวโน้มจะติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มอีก 9 คน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการเร่งสอบสวนโรคเพื่อหาผู้ติดเชื้อเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ
โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกรายงานว่า มีการสอบสวนวงจรการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด เพื่อกำหนดผู้มีความเสี่ยง ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ทราบข้อมูลแล้ว จุฬาฯ ได้ให้ลาหยุดเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน และปิดพื้นที่เพื่อทำความสะอาด
ขณะเดียวกันสถานการณ์ค้นหาเชิงรุกใน กทม. 6 เขต ค้นหาเชิงรุกแล้ว 13,480 คน พบผู้ติดเชื้อ 54 คน คิดเป็นร้อยละ 0.40 % โดยเขตภาษีเจริญมากที่สุด 26 คน นอกจากการสุ่มตรวจโรงงานแล้ว เจ้าหน้าที่ยังตรวจชุมชนบ้านพักคนงานด้วย
ศบค.ขอเวลาพิจารณาพาสปอร์ตวัคซีน
นอกจากนี้ พญ.อภิสมัย ยังได้กล่าวถึงข้อมูลจากกระทรวงกลาโหม พบว่า วันนี้ (8 ก.พ. 64) มีผู้เดินทางเข้าพักใน State Quarantine และ ASQ สะสมอยู่ที่ 194,452 คน ทำให้เห็นภาพการเดินทางเข้าออกประเทศ ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 วันที่ 7 ก.พ. 64 ทั่วโลกฉีดแล้ว 73 ประเทศ 128 ล้านโดส สหรัฐฯ ฉีดมากสุด 40 ล้านโดส โดยมีประชากร 8.81 ล้าน ฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 ครั้ง
มีการหารือกันว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วจะสามารถเข้ามาได้โดยไม่กักตัวหรือไม่ โดย ศบค.ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่การจะออกมาตรการใดๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ดูตัวเลข ข้อมูลต่างๆ จะตามต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ และต้องฟังองค์การอนามัยโลกด้วย
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แนะนำว่า ยังไม่ควรกำหนดให้ใช้เอกสารรับรองฉีดวัคซีน COVID-19 เป็นเงื่อนไขในการอนุญาตให้เข้าประเทศ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจน และไม่ใช่เวลาที่ควร ซึ่ง ศบค.ได้ทบทวนทุกข้อมูลและมาตรการเพื่อความปลอดภัยของประชาชน