วันนี้ (18 ก.พ.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวชี้เเจงเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ และ ร.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายพาดพิงหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม กรณีการเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ยืนยันดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทุกประการ ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขของเวลา และสถานที่ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นโบราณสถาน โดยอ้างอิงตามกฎหมายหน่วยงานปฏิบัติตามกฎหมาย พิจารณาทบทวนภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย
ยืดเวลายื่นซองไม่ให้ได้เปรียบ - เสียเปรียบ
ซึ่งคณะกรรมการ PPP มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563 เปลี่ยนใช้เกณฑ์ราคาและข้อเสนอทางเทคนิค 70:30 และขยายยื่นซอง 45 วัน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบให้เอกชนที่ยื่นฟ้องร่วมได้ด้วยในการยื่นซอง มีเวลามากพอให้เอกชนปรับปรุงข้อเสนอให้สอดคล้องกับเกณฑ์คัดเลือกใหม่ แนวทางใกล้เคียงเส้นทางมีอาคารที่มีความอ่อนไหวต่อการเจาะอุโมงค์ เพราะมีมรดกประเทศบ้านเมืองเก่า มีย่านเศรษฐกิจการค้า มีอาคารอนุรักษ์มากมาย ไปยังท้องสนามหลวง
การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนมีข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน มีหน่วยงานกำลังดูแล สำนักงานนโยบายวิสาหกิจ PPP ดำเนินการใดๆ ในการคัดเลือกมีการออกประกาศคณะกรรมการนโยบาย
ยกเลิกประมูล เหตุรอศาลจะต้องใช้เวลานาน
เดิมคาดการณ์ว่าข้อพิพาทจะยุติในช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ไม่สามารถคาดการณ์กระบวนการพิจารณาของศาลจนถึงที่สุดได้ ซึ่งมีการเปรียบเทียบให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาว่าหากรอคดีจนถึงที่สุด เทียบกับอายุของข้อเสนอที่ลดน้อยลงจากที่กำหนดไว้ และ ครม.กังวลเวลาที่เหลืออยู่อาจจะไม่เพียงพอ หากมีการดำเนินการคัดเลือกต่อไป สุดท้ายจะทำให้อายุข้อเสนอหมดลง โดยหากเปรียบเทียบแล้วเห็นว่าหากยกเลิกแล้วดำเนินการคัดเลือกใหม่จะใช้เวลาเพียง 6 เดือน แต่หากรอให้กระบวนการทางข้อพิพาทถึงที่สุดอาจจะต้องใช้ระยะเวลา 18 เดือน
ซึ่งการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน บางขุนนนท์ - มีนบุรี มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ นำคลิปมาแจง 2 คลิป เป็นคลิปกระบวนการปรับปรุงหลักเกณ์การประเมิน เดิมจะให้ผู้เสนอประโยชน์ด้านการเงินสูงสุดเป็นผู้ชนะการคัดเลือก แต่เพราะโครงการก่อสร้างมีความซับซ้อนและเสี่ยงให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมิน เพื่อลดเกิดอุบัติเหตุ จึงต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
เผยอดีตเคยมีคดีที่ใช้เวลายาวนาน 85 เดือน
และคลิปที่ชี้แจงว่าการยกเลิกการคัดเลือกและคัดเลือกใหม่ เพราะเอกชนที่เสนอร่วมลงทุนรายหนึ่ง ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ชั่วคราว จนกว่ามีคำพิพากษา ซึ่งหากการพิจารณาคดีถึงที่สุดต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร อดีตที่ผ่านมาเคยมีคดีที่ใช้ระยะเวลาถึง 85 เดือน และมูลค่าความเสียหายมาก ดังนั้น การยกเลิกการคัดเลือกจึงมีความจำเป็น เพื่อป้องกันความเสียหายของโครงการและการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ