วันนี้ (23 ก.พ.2564) จากกรณีปมปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีการล้มการประมูลกลางคัน ล่าสุด ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากทาง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ทำการยื่นฟ้อง ผู้บริหาร รฟม.และบุคคลที่เกี่ยวข้องในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนการก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก และการเดินรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง
ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 โดยศาลรับเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 เเละนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้องวันที่ 15 มี.ค.64
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ชี้แจงว่า กรณีการฟ้องร้องดังกล่าว ยังไม่ทราบเรื่อง
ยืนยันว่าถูกต้อง มีการสงวนสิทธิไว้แล้ว เป็นเรื่องปกติของภาครัฐในการยกเลิก หลังจากนี้ต้องดูคำฟ้องก่อน ยืนยันดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนในระยะต่อไป จะคืนค่าใช้จ่ายซองประมูลที่เอกชนจ่ายมาก่อนหน้านี้ และปลายเดือนจะเริ่มทำการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนมาประกอบการยกร่าง จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนภายในเดือนมีนาคม 2564 เพื่อประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เพื่อนำเสนอร่างเอกสารเชิญชวนอีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่กระบวนการศาล นายภคพงษ์ ยืนยันว่าจะดำเนินการแยกกัน เพราะถือว่า การประกาศยกเลิกการประมูลสามารถทำได้ตามอำนาจที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว โดยศาลได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 และนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจฟ้องวันที่ 15 มีนาคม 2564
ทั้งนี้ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 165 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือคำสั่ง ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ