"ถั่งเช่า" ไม่ใช่ผู้ร้ายถ้าใช้เป็น

สังคม
24 ก.พ. 64
14:14
3,232
Logo Thai PBS
"ถั่งเช่า" ไม่ใช่ผู้ร้ายถ้าใช้เป็น
ทำความเข้าใจถั่งเช่าในศาสตร์แพทย์แผนจีน เปิดงานวิจัยตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ พร้อมสำรวจทะเบียน อย.เป็นยาเพียง 10 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นอาหารเสริม

มีอะไรให้อ่าน?

  • ถั่งเช่าในการแพทย์แผนจีน
  • “ไตพร่อง” กับ “โรคไต” แตกต่างกัน
  • อะไรอยู่ในถั่งเช่า
  • ปริมาณการใช้
  • สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า
  • ถั่งเช่าที่ขึ้นทะเบียน อย.
  • ผลข้างเคียงจากสมุนไพร
  • เช็ก “5 ถูก” ก่อนใช้สมุนไพร

---------------------------------------------

“ถั่งเช่า” ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดสมุนไพรจีน มีบันทึกการใช้ครั้งแรกในยุคราชวงศ์ชิง ปี ค.ศ.1757 และยังคงใช้ต่อเนื่องในการแพทย์แผนจีนถึงปัจจุบัน

ถั่งเช่ามีถิ่นกำเนิดที่จีน ธิเบต เนปาล ภูฎาน ในทุ่งหญ้าบริเวณเทือกเขาสูงและหิมะปกคลุม อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 3,000-5,000 เมตร

ประกอบด้วยส่วนที่เป็นตัวหนอนยาวประมาณ 3-5 ซม.และส่วนที่เป็นรา มีกลิ่นคาวและรสขมเล็กน้อย หนอนตัวนี้เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนที่จำศีลในฤดูหนาวลงใต้ดินลึก 6 นิ้ว เมื่อมีสปอร์ราชนิดหนึ่งมาอาศัยร่างหนอน อยู่เป็นปรสิตจนเติบโตในฤดูร้อน สร้างเส้นใยทะลุหัวหนอนออกมา ราปรสิตจะดูดสารอาหารจากเจ้าหนอนนั้น จนมันค่อยๆ ตายในที่สุด

นี่คือชีวิตถั่งเช่าแบบหญ้าหนอน หรือในการตลาดอาจเรียกว่าถั่งเช่าธิเบต ปัจจุบันเราสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเช่าด้วยดักแด้ไหม ข้าว หรืออื่นๆ ได้ เช่น ถั่งเช่าสีทอง หรือถั่งเช่าหิมะ เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจ มีรายงานว่ามีสายพันธุ์ cordyceps 750 สายพันธุ์ทั่วโลก และ 400 สายพันธุ์ในเอเชีย

ถั่งเช่าในการแพทย์แผนจีน

ถั่งเช่าที่ใช้ในการแพทย์แผนจีนคือถั่งเช่าแบบหญ้าหนอน เพื่อบำรุงปอด ไต หัวใจ ช่วยหยุดเลือด ขับเสมหะ ช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ปวดหลังปวดเอว ไอเรื้อรัง ขับเสมหะ อันเนื่องมาจาก “หยาง” พร่อง

อิน-หยาง หรือ หยิน-หยาง หนึ่งในทฤษฎีการแพทย์แผนจีนว่าด้วยหลักสมดุล ขั้วตรงข้ามที่พึ่งพาอาศัยและควบคุมซึ่งกันและกัน แพทย์จีนหยิบมาอธิบายความสัมพันธ์ทางกายวิภาคของร่างกาย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้นเมื่อความสมดุลระหว่างอิน-หยางในร่างกายเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้

ถ้าอินพร่องทำให้มีอาการร้อน คอแห้ง ปากแห้ง อุจจารระแข็งแห้ง หากหยางพร่องจะทำให้หนาว จิตใจห่อเหี่ยว อ่อนแรง มือเท้าเย็น อุจจาระเหลว

การใช้สมุนไพรรักษาจึงพิจารณาจากสารสำคัญและฤทธิ์ร้อน (หยาง) ฤทธิ์เย็น (อิน) โดยถั่งเช่าจัดอยู่ในสมุนไพรพลังหยาง กรณีเป็นคนที่มีหยางแกร่งอยู่แล้ว เมื่อกินถั่งเช่าเข้าไปก็จะกลายเป็นโทษได้

 

ถัดจากพื้นฐานร่างกายผู้ป่วย ก็ต้องวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการด้วย เพราะแม้ว่าจะมีอาการเหมือนกัน แต่อาจไม่ได้เกิดจากหยางพร่องก็เป็นได้ พจ.รัทธวรรณ วงศ์ปัทมเจริญ  เจ้าของเพจหมอแนน แพทย์จีน TCM เผยว่า ถ้าเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจากสาเหตุอื่น เช่น ความเครียด การติดขัดของลมปราณและเลือด หรือปวดเอวปวดเข่าจากอุบัติเหตุ ผิดท่า กระดูกทับเส้น กรณีเหล่านี้ถั่งเช่าไม่ได้ช่วยโดยตรง

นี่คือเหตุผลแรกที่ควรตรวจวินิจฉัยกับแพทย์แผนจีนที่มีใบประกอบโรคศิลปะ ก่อนคิดซื้อยากินเอง

“ไตพร่อง” กับ “โรคไต” แตกต่างกัน

ไตในการแพทย์แผนจีนเป็น “ขุมพลังแห่งชีวิต” มีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตเจริญพันธุ์และการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ความไม่สมดุลทำให้การทำงานผิดปกติหรือลดลงถดถอย โดยไตพร่องจำแนกได้หลายประเภท มีอาการและการใช้ยารักษาต่างกัน

ดังนั้น หากแพทย์แผนจีนบอกว่าเราไตพร่องก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคไต การตรวจค่าไตแบบแผนปัจจุบันอาจเป็นปกติ ขณะเดียวกัน สมุนไพรที่ระบุว่าบำรุงไตเป็นไปตามความหมายของศาสตร์การแพทย์นั้นๆ ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคไตเสมอไป

บทความ “ถั่งเช่า ช่วยเพิ่มสมรรถภาพจริงหรือ?” ของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงกรณีศึกษาฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของไต ระบุว่า

“มีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรัง 28 คนรับประทานถั่งเช่า (Cordyceps sinensis) ปริมาณ 3-5 กรัม/วัน พบว่าถั่งเช่าส่งผลลดปริมาณเม็ดเลือดขาวกลุ่มย่อยบางชนิดและอาจส่งผลดีต่อการทำงานของไตได้



แต่งานวิจัยฉบับนี้ไม่สามารถระบุรายละเอียดของวิธีการวิจัยหรือสิ่งที่ใช้วัดผลการทำงานของไตที่ชัดเจน รวมไปถึงระดับความเปลี่ยนแปลงของการทำงานของไตที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากการวิจัยนี้ได้



นอกจากนี้ยังพบข้อมูลอื่นๆ ที่รายงานผลของถั่งเช่าต่อระบบการทำงานของไตหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตวายเรื้อรัง เช่น ผลต่อระดับโปรตีนในปัสสาวะ ผลต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง ผลต่อระดับสารต้านอนุมูลอิสระ หรือผลลดความเป็นพิษต่อไตจากยาบางชนิด



แต่ข้อมูลดังกล่าวนั้นได้จากการนำเสนอผลการศึกษาในงานประชุมวิชาการซึ่งยังไม่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ทำให้ไม่สามารถประเมินความเหมาะสมของคุณภาพการศึกษาผลของถั่งเช่าดังกล่าวได้



ดังนั้นโดยรวมจะเห็นว่าคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลของถั่งเช่า และผลต่อระบบการทำงานของไตนั้นยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัด และไม่อาจใช้ยืนยันประโยชน์ที่ชัดเจนได้”

หลังมีกระแสข่าวเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ไม่สนับสนุนผู้ป่วยโรคไตกินถั่งเช่า

อย่างไรก็ตาม สำนักงานข้อมูลสมุนไพรแนะกลุ่มที่ควรระวังในการใช้ถั่งเช่า ดังนี้

  • ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะไปเสริมกับยาลดน้ำตาลในเลือดได้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเลือด
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) เพราะถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

อะไรอยู่ในถั่งเช่า

เมื่อตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีพบว่ามีสารประกอบหลายกลุ่ม แต่สารสำคัญในถั่งเช่าคือ “สารอะดิโนซีน” และ “สารคอร์ไดเซปิน”

2 สารนี้อยู่ในกลุ่มนิวคลีโอไซด์ ซึ่งกลุ่มนี้มีฤทธิ์ต้านการเกิดเนื้องอก, ลดการตื่นตัวของเส้นประสาทส่วนกลาง, ยับยั้งการปล่อยสารสื่อประสาทช่วยลดการชัก, ช่วยลดการเต้นไม่สม่ำเสมอของหัวใจ

“สารอะดิโนซีน” เป็นสารที่มีในธรรมชาติของร่างกายมนุษย์และสังเคราะห์ขึ้นมาได้ มีการใช้ในการแพทย์อยู่แล้วโดยเฉพาะโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งใช้ด้วยความระมัดระวังสูงภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ ขณะที่ “สารคอร์ไดเซปิน” สกัดได้จากถั่งเช่าทั้งแบบธรรมชาติและเพาะเลี้ยง

สำนักงานข้อมูลสมุนไพร ระบุว่า “แม้จะมีการใช้ถั่งเช่ามานานนับศตวรรษ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อย และส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษา”

เมื่อไทยพีบีเอสสืบค้นข้อมูลงานวิจัยในประเทศไทยเกี่ยวกับถั่งเช่า พบว่าส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรและชีวภาพ หรือนวัตกรรมอาหาร มากกว่าทางการแพทย์

ปริมาณการใช้

การใช้ถั่งเช่าเพื่อสรรพคุณทางยา จะต้องนำไปขึ้นทะเบียนตำรับยาและมีงานวิจัยทางคลินิกรับรองผลการรักษา รวมถึงศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ตำรับยาจีนวัดคุณภาพถั่งเช่าที่สารอะดิโนซีน กำหนดให้ 1 แคปซูลที่บรจจุ 0.33 กรัม มีสารอะดิโนซีน 0.7-1.2 มิลลิกรัม หรืออาจคิดได้ว่าต้องมีสารอะดิโนซีนร้อยละ 0.21-0.36 ของแคปซูล โดยกินครั้งละ 3 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เท่ากับในหนึ่งวันขนาดสารอะดิโนซีนที่ให้รับประทานได้ อยู่ที่ 6.3-10.8 มิลลิกรัม

ส่วนตำรายาจีนไต้หวัน กำหนดให้มีสารอะดิโนซีนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.01 สำหรับถั่งเช่าธรรมชาติ ซึ่งทั้งสองตำราไม่ได้กำหนดปริมาณสารคอร์ไดเซปิน หรือสารอื่นที่มักอ้างสรรพคุณทางยา

 

ส่วนไทย บรรจุถั่งเช่าอยู่ในบัญชีพืชที่ใช้ในอาหารเสริมได้ ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อ 7 สิงหาคม 2560 กำหนดให้ใช้ถั่งเช่าหญ้าหนอน ในอาหารเสริมได้ทุกส่วน แต่ไทยวัดเป็น “ปริมาณถั่งเช่าบดผง” แตกต่างจากตำรับยาจีนที่กำหนดเป็น “ปริมาณสารสำคัญ” โดยกำหนดไม่เกิน 3 กรัมต่อวัน

ต่อมา มีนาคม 2562 อย.กำหนดแนวทางใช้ “ถั่งเช่าสีทอง” จากการเพาะเลี้ยงในอาหารเสริมและเครื่องดื่ม จะต้องมีสารอะดิโนซีน ไม่เกิน 170 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และสารคอร์ไดเซปินไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม จึงเรียกได้ว่ามีคุณภาพตามมาตรฐาน

เมื่อนำมาใช้อนุญาตให้มีปริมาณถั่งเช่าไม่เกิน 230 มิลลิกรัมต่อวัน โดยต้องมีสารอะดิโนซีนไม่เกิน 1.7 มิลลิกรัมต่อกรัม และสารคอร์ไดเซปิน ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกรัม

สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า

มีนาคม 2563 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ผลการวิจัยเรื่อง การตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า (เส้นใย) ที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยสุ่มผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศ 34 ตัวอย่าง จำหน่ายในต่างประเทศ 7 ตัวอย่าง ทั้งแบบแคปซูล เครื่องดื่ม และผง มาตรวจวิเคราะห์หาสารสำคัญทั้ง 2 ชนิด

ผลการวิจัยพบว่า แต่ละผลิตภัณฑ์มีปริมาณสารแตกต่างกันมาก โดยสารอะดิโนซีนอยู่ระหว่าง 8.65 - 4,200 ไมโครกรัมต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ สารคอร์ไดเซปินอยู่ระหว่าง 25.4 - 5,126.89 ไมโครกรัมต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

 

ด้านราคาก็มีความแตกต่างกันมาก คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อวันเฉลี่ยตั้งแต่ 18.25 - 480 บาท โดยปริมาณสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ไม่ได้สัมพันธ์กับราคาของผลิตภัณฑ์

 

หากนำมาตรฐานการรับรองตำรับยาของประเทศจีน มาวัดผลิตภัณฑ์ตัวอย่างในประเทศไทย พบว่า

  • 4 ตัวอย่างที่จะได้ปริมาณสารตามเกณฑ์จีน คิดเป็นร้อยละ 12.2
  • 2 ตัวอย่างสูงกว่าที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 6.1 ซึ่งหนึ่งในนั้นสูงกว่า 10 เท่า
  • 27 ตัวอย่างต่ำกว่าที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 81.8

 

ส่วนที่มีการโฆษณาว่าเป็น “ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย” นักวิจัยพบว่าไม่มีสารออกฤทธิ์ที่รักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อย่างสารซิลเดนาฟิล (sildenafil) และสารทาดาลาฟิล (tadalafil) ในทุกผลิตภัณฑ์

ข้อมูลของศูนย์บริการธุริจการค้าระหว่างประเทศ สำนักพาณิชย์ดิจิตอลและสารสนเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อ้างอิงโดยงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า ราคาเห็ดถั่งเช่าสีทองในไทยจำหน่ายกรัมละ 12,000 - 14,000 บาท จนถึงกิโลกรัมละ 300,000 - 400,000 บาท แล้วยังสูงขึ้นได้ถึงกิโลกรัมละกว่า 1,000,000 บาท ประเทศที่ไทยส่งออกอันดับต้นๆ คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์

ถั่งเช่าที่ขึ้นทะเบียน อย.

ไทยพีบีเอสสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ “ถั่งเช่า” ขึ้นทะเบียน อย.จำนวน 431 ผลิตภัณฑ์ มีสถานะยังคงอยู่ 377 ผลิตภัณฑ์ จำแนกเป็น

  • อาหารเสริม ขึ้นทะเบียน 316 ผลิตภัณฑ์ คงอยู่ 295 ผลิตภัณฑ์  ล่าสุดในปี 2563 มี 2 ผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกเลิกใบอนุญาต
  • เครื่องดื่ม ขึ้นทะเบียน 43 ผลิตภัณฑ์ คงอยู่ 40 ผลิตภัณฑ์
  • อาหาร ขึ้นทะเบียน 20 ผลิตภัณฑ์ คงอยู่ 19 ผลิตภัณฑ์
  • เครื่องสำอาง ขึ้นทะเบียน 39 ผลิตภัณฑ์ คงอยู่ 13 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มักผสมในสบู่ และยังเป็นแชมพู ครีมกันแดด ทำความสะอาดหน้า และบำรุงผิวอีกด้วย
  • ส่วนถั่งเช่าที่เป็นส่วนประกอบของยาสำเร็จรูป เช่น ยาน้ำ ยาแคปซูล ขึ้นทะเบียนตำรับยาสามารถตรวจสอบได้ 13 ผลิตภัณฑ์ คงอยู่ 10 ผลิตภัณฑ์

ผลข้างเคียงจากสมุนไพร

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุป 7 กลุ่มอันตรายจากการใช้สมุนไพร โดยข้อมูลบางส่วนมีหลักฐานยืนยันแน่นอน บางส่วนอิงข้อมูลจากการทดลอง (สัตว์ทดลอง และ/หรือ หลอดทดลอง) และบางส่วนก็มีเพียงกรณีศึกษาเท่านั้น จำแนกได้ดังนี้

  • การแพ้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลเหมือนการแพ้อาหาร
  • ความเป็นพิษ บางชนิดส่งผลต่ออวัยวะภายใน หรือส่งผลร้ายแรงกับผู้ป่วยบางโรค
  • อาการไม่พึงประสงค์ เช่น กระเทียมช่วยลดไขมันในเลือด แต่ทำให้เลือดออกได้ง่าย, รากโสม บรรเทาความเครียด กระตุ้นร่างกายและจิตใจ แต่ทำให้ความดันโลหิตสูง ผื่นขึ้น
  • ปฏิกิริยาระหว่างยาอื่นกับสมุนไพร ทำให้ฤทธิ์ของทั้งสองเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • ใช้สมุนไพรผิดชนิด-ผิดวิธี จะกลายเป็นพิษได้
  • การปนเปื้อน เช่น โลหะหนัก สารหนู ยาฆ่าแมลง เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมหรือจากการเพาะปลูก อย่างน้อยให้สังเกตผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง นำเลขทะเบียนไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • การปลอมปน ผู้ขายอาจเติมสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์หรือทำของปลอมขึ้นมา อย่างการปลอมถั่งเช่าหญ้าหนอน พบว่ามีการใช้ลำต้นใต้ดินของพืชอื่น, นำสายพันธุ์ Cordyceps อื่นที่ราคาถูกกว่ามาปลอมปน, เพิ่มน้ำหนักของถั่งเช่าด้วยวิธีการต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดว่าจั๊กจั่นที่ตายจากการติดเชื้อรา คือว่านจั๊กจั่น หรือถั่งเช่าจั๊กจั่น ซึ่งเป็นพิษอาจถึงตายได้ ในไทยมีรายงานการบาดเจ็บจากการกินจั๊กจั่นติดเชื้อราจนนำส่งโรงพยาบาลมาแล้วหลายกรณี รวมถึงความเชื่อนำมาบูชา แม้จะทาแลกเกอร์เคลือบหรือใส่กรอบ แต่ก็มีโอกาสที่รายังมีชีวิตอยู่และสร้างสปอร์ได้

เช็ก “5 ถูก” ก่อนใช้สมุนไพร

ถูกชนิด : สมุนไพรอาจมีชื่อหรือรูปลักษณ์ที่คล้ายกัน จึงต้องแน่ใจว่าชนิดที่นำมาใช้นั้นถูกต้อง

ถูกส่วน : สมุนไพรชนิดหนึ่งมีหลายส่วน เช่น ดอก ราก ใบ เปลือก แต่ละส่วนมีฤทธิ์และวิธีการใช้แตกต่างกัน รวมถึงความอ่อน-แก่ด้วย

ถูกขนาด : หมายถึงปริมาณการใช้ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและเป็นไปตามตำรับยา เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่เห็นผล ไม่เป็นอันตราย

ถูกวิธี : การนำสมุนไพรมาใช้มีวิธีการต่างกัน เช่น บางชนิดต้องต้มสด ต้มเคี่ยว คั้นน้ำ ดองเหล้า เป็นต้น การใช้วิธีการผิดอาจทำสารที่ได้เปลี่ยนไปและเป็นอันตรายได้

ถูกโรค : ใช้สมุนไพรตรงกับอาการที่เป็น ขณะที่บางชนิดแสลงกับบางโรค

รวมถึงไม่ควรใช้สมุนไพรต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ควรใช้สมุนไพรในผู้ที่มีอาการร้ายแรงคือ ไข้สูง ไม่รู้สึกตัว ถ่ายท้องรุนแรง ตกเลือด ไม่ควรใช้ในเด็กและสตรีมีครรภ์

แม้ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกัน แต่อาจมีการรักษาหรือใช้ตัวยาแตกต่างกัน จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน (สมุนไพรจีนควรพบแพทย์แผนจีน) เพื่อกำกับปริมาณและวิธีใช้สมุนไพรให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ตรงคน ตรงโรค

---------------------------------------------

อ้างอิง

รศ.ภญ.จินดา หวังบุญสกุล, รศ.ภญ.สุรัตนา อำนวยผล และ ภารดี แสงวัฒนกุล, การตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า (เส้นใย) ที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563

รศ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และธิดารัตน์ จันทร์ดอน, บทความ ถั่งเช่า ช่วยเพิ่มสมรรถภาพ จริงหรือ?, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2556

รศ.ภญ.ยุวดี วงษ์กระจ่าง และเภสัชกร วสุ ศุภรัตนสิทธิ, บทความ ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร, ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2558 

บทความ ยาสมุนไพร ปลอดภัย เมื่อใช้ถูกหลัก, ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563

บทความ ใช้สมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัย, คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2560

บทความ การรักษาด้วยยาจีน, คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว, 2564 

สำนักการแพทย์ทางเลือก, การแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine), วารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2556 

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2560

แนวทางการพิจารณาอนุญาตถั่งเช่าสีทองเป็นอาหารหรือส่วนประกอบในอาหาร, สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2562

รายการเสวนาภาษาหมอจีน ตอน สารพันคำถาม? การใช้สมุนไพรอย่างปลอดภัย, เภสัชกรแพทย์จีนฤทธิ์เจตน์ รินแก้วกาญจน์ ดำเนินรายการโดยแพทย์จีนสุชานุช พันธุ์เจริญศิลป์, คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว, 23 กุมภาพันธ์ 2563 

รายการเสวนาภาษาหมอจีน ตอน เป็นโรคไต กินยาจีนได้ไหม?, แพทย์จีนเยาวเกียรติ เยาวพันธุ์กุล ดำเนินรายการโดยแพทย์จีนต้นสกุล สังข์ทอง, คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว, 28 มกราคม 2564

ระบบฐานข้อมูลตรวจสอบการอนุญาตผลิตภัณฑ์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง