ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เรมเดซิเวียร์" ยาต้านไวรัส ความหวัง "คนท้อง" สู้โควิด-19

สังคม
20 เม.ย. 64
14:42
17,472
Logo Thai PBS
"เรมเดซิเวียร์" ยาต้านไวรัส ความหวัง "คนท้อง" สู้โควิด-19
ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์หญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน ที่ติดเชื้อ COVID-19 จากคนใกล้ชิด หลังมีอาการป่วยไม่กี่วัน กลับพบว่าเชื้อลงปอดแล้วจนอาการหนักต้องใช้ยารักษา ในวันที่ใช้ฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ "เรมเดซิเวียร์" จึงกลายเป็นอีกหนึ่งคำตอบของการรักษา

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เริ่มกระจายเป็นวงกว้าง ติดเชื้อแล้วใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งเด็กเล็ก 2 เดือน ไปจนถึงคนสูงอายุ 70 ปี ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ภายในบ้านกลางเมืองกรุง ที่วันหนึ่งทราบข่าวว่า คนใกล้ชิดติดเชื้อไวรัส COVID-19

ความกังวลที่เกิดขึ้นจากโรคร้าย ทำให้หญิงตั้งครรภ์คนนี้เดินทางไปตรวจหาเชื้อทันทีเมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ความกังวลเกิดขึ้นกับคนไทยอีกหลายคน ทำให้คิวรอตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลนั้นยาวเป็นหางว่าว

หญิงตั้งครรภ์ วัย 37 ปี คนนี้ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ทีมแพทย์แจ้งให้กลับไปรอที่บ้านก่อน แล้วค่อยกลับมาตรวจอีกครั้งในตอนเช้า แม้จะบอกว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เนื่องจากเกรงว่าอาจมีโอกาสติดเชื้อจากการนั่งรอคิวในโรงพยาบาลได้

ผ่านไปข้ามคืน ว่าที่คุณแม่คนนี้เดินทางไปโรงพยาบาลตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อตรวจหาเชื้อ ก่อนที่จะทราบผลว่าเป็นลบ ในวันถัดไป สาธารณสุขในพื้นที่ได้เข้ามาสอบสวนโรคที่บ้าน พร้อมนำเครื่องวัดไข้ หน้ากากอนามัย และแอดไลน์เข้ากลุ่มเพื่อให้รายงานการวัดไข้ประจำวัน ซึ่งตลอดเวลาที่กักตัวที่บ้านหญิงตั้งครรภ์คนนี้ไม่มีอาการไข้แม้แต่วันเดียว

ว่าด้วยการเอกซเรย์คนท้อง "พบเชื้อลงปอด"

กระทั่งวันที่ 13 เม.ย.อาการป่วยอย่างแรกก็ปรากฎ น้ำมูกใสไหลออกมามาก จนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจซ้ำ แต่แพทย์แจ้งว่าอาจเป็นอาการแพ้อากาศ จึงจ่ายยาลดน้ำมูกและให้กลับบ้านมากักตัวต่อ แต่แล้ววันที่ 16 เม.ย.อาการไอก็ตามมา หญิงตั้งครรภ์คนนี้จึงตัดสินใจไปตรวจหาเชื้ออีกครั้งที่โรงพยาบาล ก่อนพบว่าติดเชื้อ COVID-19 ในการตรวจรอบ 2

ตอนนั้นไอหนักมาก ไอจนไม่มีแรง หายใจไม่ออก พูดกับใครไม่ได้เลย ยิ่งพูดยิ่งไอ จนท้องเกร็ง คิดว่าตัวเองต้องคลอดก่อนกำหนดแล้ว


หญิงตั้งครรภ์คนนี้จึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมทำความรู้จักอุปกรณ์ต่าง ๆ และเพื่อนใหม่ในห้องโรงพยาบาลอีก 2 คน ที่ร่วมให้กำลังใจและผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน

โดยวันนี้ (20 เม.ย.2564) นับเป็นการรักษาในโรงพยาบาลเป็นวันที่ 4 แล้ว จากวันแรกที่เข้ามาด้วยอาการไอหนักและน้ำมูกไหล จนต้องไปเอกซเรย์ก่อนพบว่า เชื้อลงปอดในวันที่ 2 ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ทำให้ต้องเริ่มใช้ยาต้านไวรัส

ตอนเอกซเรย์ เพราะเป็นคนท้อง คุณหมอจึงให้ชุดป้องกันรังสีเอกซเรย์ คือ เสื้อตะกั่ว เมื่อเอกซเรย์ ก็ทำให้รู้ว่าเชื้อลงปอดแล้ว ทั้งที่อาการป่วยเพิ่งแสดงออกมาไม่กี่วัน และที่ผ่านมาเราไม่เคยมีไข้เลย

ยาต้านไวรัสสำหรับคนท้อง ความหวังของคนเป็นแม่

ทีมแพทย์แจ้งว่า สำหรับคนตั้งครรภ์จะไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาเพื่อต้านไวรัสได้ ทำให้หญิงตั้งครรภ์คนนี้ยิ่งกังวลใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกในท้อง แต่แล้วทีมแพทย์ก็ได้เสนอยาต้านไวรัสอีกตัวมาให้ 

ยาตัวนี้ชื่อว่า เรมเดซิเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่มีผลการศึกษาว่าใช้กับคนท้องได้ แม้ว่าเป็นยาตัวใหม่ที่เพิ่งนำเข้ามา บางโรงพยาบาลก็ไม่มี แต่พอหมอบอกว่ามันจะช่วยเรา ช่วยลูกได้ ถึงราคาโดสละ 5,000 บาท เราก็พร้อมสู้


หญิงอายุครรภ์ 7 เดือน ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ไปด้วยพร้อมกับอาการไอที่เริ่มดีขึ้นจากวันแรก ที่รักษาในโรงพยาบาล หลังรับยาเรมเดซิเวียร์ที่ฉีดเข้าเส้นเลือด เช่นเดียวกับการให้น้ำเกลือมาเป็นวันที่ 2 แล้ว ควบคู่กับยาลดการอักเสบ

ส่วนยากินนั้น แพทย์ให้ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ยาฆ่าเชื้อชนิดอ่อนสำหรับคนท้องควบคู่ไปด้วย

ยาเรมเดซิเวียร์นี้เห็นเขียนไว้ว่าเป็นยาเฉพาะ ไม่มีสต๊อก แต่พอเอามาใช้แล้วอาการก็ดีขึ้น ไอน้อยลง คุณหมอก็ดูแลดี ให้กำลังใจ บอกว่ามียารักษาแล้วนะคุณแม่ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวก็หาย ความกังวลเราก็เริ่มลดลง


ทั้งนี้ ผู้ป่วย COVID-19 คนนี้ ทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ทีมแพทย์จะยังรักษาไปตามอาการ จนกว่าจะหายเป็นปกติและกลับบ้านได้ แต่อยากฝากให้กำลังใจว่าที่คุณแม่ทุกคนว่า ไม่มีใครอยากติดเชื้อไวรัส แม้ว่าจะระวังตัวแล้ว แต่สุดท้ายกลับติดเชื้อ ก็ขออย่ากังวลมากเกินไป ขอให้กำลังใจทุกคน เพราะเชื้อว่าเมื่อเป็นก็หายได้ สาธารณสุขไทยมีความก้าวหน้า ทั้งวันนี้ยังมียาต้านไวรัสสำหรับคนท้องเข้ามาแล้ว ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอ

ไทยสำรอง "ยาเรมเดซิเวียร์" ใช้รักษาโควิดหลายประเทศ

สำหรับยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) เป็นยาต้านไวรัสอีโบลา ของบริษัท กิลิแอด ไซเอนเซส ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในต่างประเทศได้มีการนำมาใช้รักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง หรือใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตั้งแต่ปี 2563 หลังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ใช้เรมเดซิเวียร์รักษาผู้ป่วย COVID-19 ได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ญี่ปุ่นไฟเขียวใช้ "เรมเดซิเวียร์" รักษา COVID-19

บริษัทยาสหรัฐฯ จ่อทดลองยาต้านไวรัส "เรมเดซิเวียร์" ชนิดสูดดม

"เกาหลีใต้" เตรียมใช้ยาเรมเดซิเวียร์ รักษาโควิด-19

สำหรับในประเทศไทยนั้น นอกจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารับประทานอีกอย่างน้อย 3 ล้านเม็ด ซึ่งจะทยอยเข้ามาตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. ยังได้จัดหายาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งเป็นยาฉีดโดยเตรียมเอาไว้ให้สำหรับผู้ป่วยอาการหนักที่ไม่สามารถรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ได้ประมาณ 1,000 หลอดอีกด้วย

GPO (อภ.)เร่งจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มอีก 3 ล้านเม็ด ยืนยันอุปกรณ์การแพทย์ รับมือโควิดมีเพียงพอ เมื่อวันที่ 19...

โพสต์โดย องค์การเภสัชกรรม เมื่อ วันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2021

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง