วันนี้ (6 พ.ค.2564) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรยา "ฟาวิพิราเวียร์" รูปแบบยาเม็ด ที่มีการสอบถามความคืบหน้ามาก่อนหน้านี้ว่า กรมฯ ได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้วภายหลังจากให้โอกาสผู้ขอได้ชี้แจงเพิ่มเติม โดยผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรพิจารณาแล้วยังคงเห็นว่าการประดิษฐ์ดังกล่าว ไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร
ทำให้ปัจจุบันไม่มีผู้ใดมีสิทธิผูกขาดในยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งในโครงสร้างสารออกฤทธิ์หลักซึ่งไม่เคยมีการขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทย และรูปแบบยาเม็ด
ซึ่งหากองค์การเภสัชกรรม หรือบริษัทยาสามัญไทยรายอื่นประสงค์จะผลิตยาดังกล่าวเพื่อใช้ในประเทศ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่เนื่องจากกระบวนการของกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ผู้ขอ สามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ภายใน 60 วัน หากไม่มีการอุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าว จึงจะถือว่าคำสั่งปฏิเสธของกรมฯเป็นที่สุด และเสร็จสิ้นกระบวนการทางกฎหมาย
ส่วนประเด็นที่ว่าประเทศไทยไม่สามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) เพื่อผลิตยาที่มีสิทธิบัตรขึ้นเองได้เนื่องจากติดขัดข้อการแก้ไขกฎหมายของกรมฯ นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะกฎหมายสิทธิบัตรดังกล่าว เป็นเพียงร่างกฎหมาย ยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นการใช้สิทธิซีแอล จึงยังเป็นอำนาจของกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวถึงยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ว่าแม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ได้มีการสำรองไว้แล้วอย่างเพียงพอโดยยังมีเหลือในสต็อก 1,500,000 เม็ดกระจายไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ และจะได้รับเพิ่มอีก 3,000,000 เม็ด ใน พ.ค.นี้ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มียาเพียงพอ
วันเดียวกัน กทม.ได้ข้อสรุปแนวทางใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวแล้ว ที่ต้องอยู่ในเกณฑ์ประเมินของแพทย์ เช่น เป็นผู้ป่วยที่มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่น และเสี่ยงต่อการลุกลามของโรคหากได้รับยาตั้งแต่แรก และรักษาต่อเนื่อง 5-10 วัน จะไม่กลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือแดงในอนาคตได้ แต่ผู้ป่วยสีเขียวต้องยินยอมให้รักษา ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่แล้ว