วันนี้ (6 พ.ค.2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ไทยพบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 1,911 คน จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,749 คน ตรวจเชิงรุกในชุมชน 153 คน จากต่างประเทศ 9 คน รวมสะสม 76,811 คน หายป่วย 46,795 คน เสียชีวิตเพิ่ม 18 คน รักษาในโรงพยาบาล 29,680 คน อาการหนัก 1,073 คน และใส่เครื่องช่วยหายใจ 356 คน

วันนี้หายป่วยมากกว่าป่วย ช่วงพีคที่มีผู้ป่วยมากกว่า 2,000 คน ก็ทยอยครบ 14 วัน และหายป่วยจนออกจากโรงพยาบาลได้มากกว่า 2,000 คน เช่นกัน ส่วนการฉีดวัคซีน เข็มแรกฉีดเพิ่ม 17,155 คน สะสม 1,167,719 คน ส่วนเข็ม 2 ฉีดเพิ่ม 11,603 คน สะสม 434,114 คน
ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกติดเชื้อสะสม 155 ล้านคน เพิ่มวันเดียว 837,731 คน เสียชีวิตสะสม 3.2 ล้านคน โดยสหรัฐฯ ยังป่วยสะสมมากสุด 33 ล้านคน ส่วนอินเดีย เพิ่มขึ้นวันเดียว 412,618 คน รวมสะสม 21 ล้านคนแล้ว ส่วนไทยอยู่อันดับ 99 ของโลก
เสียชีวิตเพิ่ม 18 คน
สำหรับผู้เสียชีวิตจาก กทม. 6 คน สมุทรปราการ 3 คน นนทบุรี เชียงใหม่ และสมุทรสาคร จังหวัดละ 2 คน และ ปทุมธานี ยะลา สิงห์บุรี จังหวัดละ 1 คน โดยแบ่งเป็นชาย 5 คน หญิง 13 คน อายุ 45 - 100 ปี
โรคประจำตัวความดันโลหิตสูงและเบาหวานยังเป็นความเสี่ยงหลัก นอกจากนี้ยังมีไขมันในเลือดสูง และมีภาวะอ้วน

ขณะที่ข้อมูลกราฟภาพรวมระลอกใหม่ ยังมีแนวโน้มทแยงสูงขึ้น ส่วนการตรวจหาเชื้อยังเน้นการตรวจค้นหาเชิงรุกในชุมชนเพื่อให้ตรวจหาเชื้อได้เพิ่มขึ้น

ส่วนการเดินทางกลับจากต่างประเทศ หลายคนอาจจับตาคนที่เดินทางมาจากบราซิล ยืนยันว่า ทุกคนที่เข้ามาในไทย จะต้องเข้าระบบ Quarantine ไม่ว่าจะมาจากประเทศอะไร
ผู้ติดเชื้อใหม่ 10 อันดับแรก
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ 10 อันดับแรก ยังเป็น กทม. 739 คน รวมสะสม 16,048 คน รองลงมาคือ นนทบุรี เพิ่ม 273 คน สมุทรปราการ 143 คน ชลบุรี 76 คน สมุทรสาคร 65 คน สุราษฎร์ธานี 53 คน นครปฐม 47 คน อยุธยา 35 คน ฉะเชิงเทรา 35 คน ปทุมธานี 31 คน และนครศรีธรรมราช 31 คน

กทม.รวมกับปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อรวมมากกว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ เป็นเหตุนายกฯ ต้องมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการบูรณาการการทำงานของ COVID-19 กทม.และปริมณฑล โดยข้อมูลล่าสุด กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อรวม 1,298 คน รวมสะสม 24,623 คน
จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ใน กทม.ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะกราฟยังคงตัวอยู่ โดยพบส่วนใหญ่ที่ชุมชนแออัด ส่วน นนทบุรี มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา สมุทรปราการยังเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่ปทุมธานี ตัวเลขขึ้น ๆ ลง ๆ ส่วนสมุทรสาคร แนวโน้มทรงตัว
ห้วยขวางยอดผู้ป่วยสะสมสูงสุด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การประชุมช่วงเช้า ได้ให้ กทม.มาแจ้งการดำเนินการและการสะสมของผู้ป่วย มีการรายงานว่า เขตยอดผู้ป่วยสะสมสูงสุด ตั้งแต่ 1 เม.ย.-5 พ.ค.64 คือ ห้วยขวาง 463 คน รองลงมา คือ ดินแดง 426 คน บางเขน 357 คน วัฒนา 330 และ จตุจักร 356 คน

ก่อนหน้านี้มีรายงานชุมชนคลองเตย และบ่อนไก่ ล่าสุด มีรายงานเขตบางแค โดยได้ไปตรวจเชิงรุก 1,413 คน พบเชื้อ 68 คน คิดเป็น 4.8% เชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้า เป็นพนักงานติดเชื้อ
อีกกลุ่มเป็นท่าปล่อยรถเมล์ มีพนักงานประมาณ 100 คน ซึ่งเชื่อมโยงกับบ้านของพนักงาน คือ ชุมชนบ้านขิง จาก 100 คน ติดเชื้อแล้ว 14 คน รอผล 70 คน
และมีการตรวจเชิงรุกในชุมชนบ้านขิงซึ่งมีประชากร 1,000 คน โดยวันที่ 28 เม.ย.พบติดเชื้อ 30 คน และตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงสูง 316 คน พบติดเชื้อ 24 คน วันที่ 30 เม.ย. คิดเป็ฯ 7.6% และล่าสุด วันที่ 3 พ.ค. ไปตรวจอีก 576 คน พบเชื้อ 25 คน คิดเป็น 4.3%

1 เดือน กทม. ตรวจเชิงรุกแล้วกว่า 4 หมื่นคน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กทม.ได้ดำเนินการตรวจเชิงรุกตั้งแต่ 5 เม.ย. - 5 พ.ค. 64 ครบ 1 เดือน ตรวจแล้ว 42,251 คน พบผู้ติดเชื้อ 1,677 คน คิดเป็น 3.97% ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ในชุมชนที่ลงไปตรวจ 100 คน จะมี 4 คนที่ติดเชื้อ COVID-19

ขณะที่แผนตรวจเชิงรุกด้วยรถพระราชทานชีวนิรภัย ในวันที่ 6 พ.ค. จะตรวจที่ชุมชนหมู่บ้านวัฒนา 1,000 คน และในวันที่ 7 พ.ค. จะไปตรวจเชิงรุกที่สำเพ็ง 500 คน และ ชุมชนหมู่บ้านวัฒนาอีก 1,000 คน
นอกจากนี้ยังมีแผนเฝ้าระวังเชิงรุก 6 กลุ่มเขต ตั้งแต่วันที่ 5-11 พ.ค. รวม 5 วัน จะตรวจประมาณ 3,000 คน ต่อวันด้วย

มีการสุ่มตรวจกลุ่มเสี่ยงประมาณ 250 ตัวอย่างต่อวัน หรือประมาณ 1,750 ตัวอย่างต่อสัปดาห์มีโรงแรมธำรงอินน์ จรัญสนิทวงศ์ โรงแรม My Hotel ห้วยขวาง และโรงแรมแอสบาสเดอร์ สุขุมวิท เป็นพื้นที่ LQ ให้กลุ่มเสี่ยงสูงกักตัวในกลุ่มนี้จะตรวจประมาณ 600 คนต่อวันหรือ 1,800 คนต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ หากตรวจได้ 26,850 คนต่อสัปดาห์ ต้องเตรียมเตียงรับผู้ป่วย 1,343 เตียงต่อสัปดาห์ คิดเป็น 5% เพื่อรองรับการรักษาในโรงพยาบาล

โครงสร้างศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการทำงานของศูนย์ต่าง ๆ จะมี ศบค.อยู่ตรงกลาง โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการตั้ง 1 ศูนย์กับ 2 คณะกรรมการ สำหรับ กทม.และปริมณฑล อยู่เป็นทีมใหม่ ส่วนทีมเก่ามีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการต่าง ๆ และสำนักงานเลขาธิการ กลุ่มเหล่านี้เป็นระดับนโยบาย เมื่อแจกแจงลงมาจะมีระดับอำนวยการ เช่น ศปก.ศบค. ศบค.มท. ศปก.ด้านต่าง ๆ และลงมาเป็นระดับพื้นที่/ปฏิบัติการจะมี ศปก.จังหวัด หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ทั้งนี้ ที่ประชุมกันทุกวันเพื่อรายงานสถานการณ์เข้ามาส่วนกลาง ส่วน ศปก.กทม. ที่มี 50 เขต ซึ่งจะมีความเชื่อมประสานกับศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ COVID-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่นายกฯ จะได้รับรู้สถานการณ์อย่างรวดเร็ว

ศบค.ปรับเวลาแถลง เริ่มพรุ่งนี้
ขณะที่ ตั้งแต่พรุ่งนี้ (7 พ.ค.64) การแถลงข่าวโดย ศบค.ที่ทำเนียบรัฐบาลจะปรับเวลาเป็น 12.30 น. นอกเหนือการรายงานสถานการณ์ COVID-19 แล้ว ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสาธารณสุข การต่างประเทศ และเศรษฐกิจ ต่อเนื่องถึงประมาณ 13.45 น.