วันนี้ (15 พ.ค.2564) หลังจากวันนี้มีข่าวดีว่า ศบค.มีมาตรการคลายล็อกโดยเฉพาะร้านอาหาร แต่ยังมีสถานประกอบการอีกหลายประเภท ที่รอสัญญาณบวกลักษณะนี้อีกไม่น้อย เพราะปัญหาใหญ่คือเขาก็ถูกสั่งปิด แต่รายจ่ายเท่าเดิม เช่น ผู้ประกอบร้านนวดสปา โรงภาพยนตร์
ยกตัวอย่างคำสั่งปิดสถานที่ สถานประกอบการ 31 ประเภทของ กทม.ที่มีผลเมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา อย่างโรงภาพยนตร์ ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต ฟิตเนส คลินิกเสริมความงาม ห้องสมุด สนามกีฬา บางแห่งส่งเสียงสะท้อนว่าไม่เคยเป็นแหล่งพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ไม่เคยเป็นคลัสเตอร์ ที่ผ่านมาถูกพบผู้ติดเชื้อน้อยมาก หรือไม่เคยมี แต่ก็ถูกสั่งปิดด้วยเหตุผล เพื่อควบคุมการระบาด หลายคนท้วงติงทำนองว่า “ปิดก่อน แต่ได้เปิดทีหลัง”
ยกตัวอย่างกลุ่มธุรกิจสปาใน กทม.ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง กทม.รับผิดชอบหรือเยียวยาจากการสั่งปิดเป็นครั้งที่ 3 ข้อเรียกร้องของพวกเขา คือ ช่วยเจรจาลดค่าเช่าที่ ซึ่งพวกเขายังต้องแบกรับภาระทั้งหมด ตามปกติ เร่งฉีดวัคซีนให้กับพนักงานสปา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานสัมผัสผู้อื่น
ขอให้ภาคแรงงานได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มต้นๆบ้าง เพราะต้องเจอกับลูกค้าและในอนาคตมีโอกาสเจอกับต่างชาติ และแรงงานเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีโอกาส

รอวันปลดล็อกบ้าง
ข้อสังเกตหนึ่ง คือคำสั่งปิดสถานที่ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าผ่านคณะกรรการควบคุมโรคติดต่อ นั่นหมายถึงแต่ละจังหวัดอาจมีคำสั่งต่อสถานที่หนึ่ง แตกต่างกันออกไป ดูตัวอย่างร้านสปา พื้นที่กทม.และปริมณฑล กทม.ออกคำสั่งปิดถึง 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนที่ จ.นครปฐม ปิดถึง 31 พ.ค.นี้ ส่วนจ.นนทบุรี ปิดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ขณะที่จ.สมุทรปราการ ปทุมธานี และสมุทรสาคร ไม่มีคำสั่งปิด

ด้านหนึ่งอาจมีข้อสังเกตว่าลูกค้าอาจเดินทางข้ามพื้นที่ เพื่อไปใช้บริการได้แต่อีกด้านก็ยืนยันว่ามีมาตรการดูแล และสถานการณ์การระบาดไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นต้องสั่งปิด
ขณะที่อีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงการของรัฐที่ผ่านมา มักจะครอบคลุมเฉพาะการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค แต่กลุ่มธุรกิจบริการหลายๆ ประเภทยังเข้าไม่ถึง และพวกเขาก็ต้องการการสนับสนุน เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจาก COVID-19
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลดล็อก! ปรับ 4 จังหวัดควบคุมสีแดงเข้ม-กินในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม