นายกฯ รับมอบงานวิจัยหนุน "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์"

Logo Thai PBS
นายกฯ รับมอบงานวิจัยหนุน "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์"
นายกฯ รับมอบรายงานสรุปเชิงนโยบายจากผลงานวิจัยของกองทุน ววน. สนับสนุน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ขณะที่ ผช.ปลัดท่องเที่ยวฯ ร่วมพัฒนาเว็บท่าให้บริการนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และเชื่อมต่อกับงานอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย พร้อมเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่า

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะลงพื้นที่ ณ ท่าอากาศภูเก็ต เพื่อเปิดโครงการนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานคณะทำงานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะ ได้นำเสนอรายงานสรุปเชิงนโยบายแด่นายกรัฐมนตรี ในงาน “Hug Thai Hug Phuket” ด้วย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

 

สำหรับผลงานประกอบด้วย “การพัฒนาแพลตฟอรม์ Entry Thailand กับการเปิดรับนักเดินทางสู่ประเทศไทย” ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย มีนายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้ทุนวิจัยของ สกสว. เพื่อจัดตั้งกลไกเชื่อมโยงระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนต่าง ๆ ในการเดินทางเข้าประเทศไทยในรูปแบบของเว็บท่า “Entry Thailand” บริการนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าไทย โดยรวบรวมเว็บไซต์และข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ระบบการขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย ระบบขายประกันสุขภาพ และระบบจองสถานที่กักตัวทางเลือก ASQ (Alternative State Quarantine) และ ALQ (Alternative Local Quarantine) รวมทั้งโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA+ (Safety and Health Administration Plus)

ทั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาใช้งานระบบจากทั่วโลกจองสถานที่กักตัวทางเลือกกว่า 181 รายการจอง คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 7,311,591 บาท (ข้อมูลถึงวันที่ 1 ก.ค.2564) โดยผลงานนี้สามารถเชื่อมต่อกับงานอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย (อสท.) ที่คอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยว

ขณะที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้สนับสนุนงาน “สัมผัสวิถีชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองภูเก็ต” ภายใต้โครงการการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ สู่ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพในพื้นที่ภาคใต้ โดย ดร.นราวดี บัวขวัญ และคณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และคณะ เน้นการนำคุณค่าและอัตลักษณ์ชุมชนสู่การเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการจัดตั้งอาสาสมัครท่องเที่ยวไทย กับการเดินหน้าภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการกระบวนการการพัฒนาองค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเพื่อความยั่งยืน โดย ดร.กาญจนา สมมิตร และคณะ สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ เพื่อศึกษาแนวทางการ พัฒนาองค์กรกลางที่เชื่อมประสานงานอาสาสมัครทางการท่องเที่ยวไทยทั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศในบริบทของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

 

ขณะที่ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและมาตรการเยียวยาของภาครัฐ พบว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงประมาณ 4.4 แสนล้านบาท จากปี 2563 ซึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และชลบุรี โดยมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุด ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจนันทนาการ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก ธุรกิจโรงแรมที่พักและธุรกิจขนส่งตามลำดับ

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายประกอบ การช่วยเหลือผลกระทบระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและแรงงาน โดยรัฐบาลอาจตั้งศูนย์บัญชาการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และประมวลผลที่ทันต่อสถานการณ์ เพื่อประกอบการวางแผนและแก้ปัญหาป้องกันการระบาดได้อย่างรวดเร็วและเป็นปัจจุบัน การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแบบเฉพาะกลุ่มให้มากขึ้น รวมถึงจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากและรวดเร็วขึ้น, การกระตุ้นการท่องเที่ยวและการเตรียมพร้อมเพื่อการเปิดประเทศ โดยเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยและสาธารณสุข ตลอดจนเตรียมพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต, การปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวหลังยุคความปกติใหม่ รัฐบาลควรช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงการจัดทำ เก็บข้อมูลและการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการการท่องเที่ยวสู่การวางแผนบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังใช้ฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการท่องเที่ยว เช่น ต่อยอดเป็นระบบเตือนภัย พัฒนาทักษะแรงงานของภาคการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมพร้อมยกระดับการท่องเที่ยววิถีใหม่และรูปแบบใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง