โควิดฉุดมูลค่าร้านอาหารหายไปเกือบ 70,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจ
7 ก.ค. 64
09:42
577
Logo Thai PBS
โควิดฉุดมูลค่าร้านอาหารหายไปเกือบ 70,000 ล้านบาท
COVID-19 ยังส่งผลกระทบวงกว้าง โดยเฉพาะร้านอาหารที่ให้ขายเฉพาะซื้อกลับบ้าน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุมาตรการดังกล่าว ทำให้มูลค่าธุรกิจหายไป 70,000 ล้านบาท ขณะที่เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ครม.อนุมัติมาตรการ "สินเชื่ออิ่มใจ" เพื่อให้ร้านอาหารได้นำไปประคองธุรกิจ

วันนี้ (7 ก.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านอาหารหลายแห่งยอมรับว่ามาตรการควบคุม COVID-19 ที่เข้มข้น ขายได้เฉพาะซื้อกลับบ้าน และประชาชนเน้นการทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน

ส่งผลกระทบ รายได้หดหายไปจำนวนมาก เมื่อรายได้ไม่เข้าเป้า รายจ่ายยังเท่าเดิม ร้านไหนที่สายป่านสั้น ต้องออกจากธุรกิจนี้ไป

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินธุรกิจร้านอาหาร หลังจากภาครัฐมีมาตรการห้ามนั่งทานอาหารในร้าน 30 วัน ครอบคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑล

ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างมาก คาดว่าในปี 2564 มูลค่าธุรกิจนี้จะเสียหาย 55,000-70,000 ล้านบาท เหลือเพียง 335,000 - 350,000 ล้านบาท

แม้ว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านอาหารจะพยายามปรับตัวอย่างมาก และภาครัฐได้มีการออกนโยบายช่วยเหลือเบื้องต้น

แต่ผลกระทบต่อเนื่องที่สะสมได้สร้างความบอบช้ำอย่างมากต่อธุรกิจร้านอาหาร และยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ทำให้ภาครัฐอาจมีความจำเป็นในการที่จะควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 เพิ่มเติมในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ในระยะต่อไปภาครัฐอาจพิจารณาการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาในมิติอื่นๆ ของผู้ประกอบการร้านอาหาร เช่น ค่าเช่าพื้นที่และค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค

การเข้าถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงหลักเกณฑ์การชดเชยที่มีต่อผู้ประกอบการและกลุ่มลูกจ้างที่ชัดเจนและครอบคลุมทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น

เมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณามาตรการ "สินเชื่ออิ่มใจ" เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน เตรียมวงเงินดำเนินโครงการ จำนวน 2,000 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารแบบถาวร อาคารพาณิชย์ ห้องแถว ภัตตาคาร หรือบูธจำหน่ายอาหาร

สูงสุดไม่เกินรายละ 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 เป็นเวลา 5 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น และดอกเบี้ย 6 งวดแรก

ส่วนหาบเร่ แผงลอย รถเข็น สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุดรายละ 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นเวลา 3 ปี

ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนแรก พร้อมผ่อนปรนการพิจารณาสินเชื่อ และสามารถยื่นคำขอได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง