สธ.จัดหา "ยาฟาวิพิราเวียร์" เพิ่ม 16 ล้านเม็ด ภายใน ก.ค.นี้

สังคม
14 ก.ค. 64
18:30
365
Logo Thai PBS
สธ.จัดหา "ยาฟาวิพิราเวียร์" เพิ่ม 16 ล้านเม็ด ภายใน ก.ค.นี้
กระทรวงสาธารณสุข เผยยารักษา COVID-19 และอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากร 10 รายการ ยังมีเพียงพอ จัดหายาฟาวิพิราเวียร์อีก 16 ล้านเม็ด ภายใน ก.ค.นี้ ส่วนเตียงผู้ป่วย COVID-19 สีแดงในกรุงเทพฯ ว่าง 10% เร่งเพิ่มจำนวน ยกระดับเตียงสีเขียวดูแลผู้ป่วยสีเหลือง

วันนี้ (14 ก.ค.2564) นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข และ นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน แถลงข่าวการบริหารทรัพยากรยา เวชภัณฑ์ และเตียงในสถานการณ์โรค COVID-19 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

 

นพ.กรกฤช เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์ 4 ล้านเม็ด และยาเรมดิซิเวียร์ 1,613 ไวอัล ถือว่ามีเพียงพอสนับสนุนให้กับพื้นที่ตามปริมาณการใช้จริง

อย่างไรก็ตาม ภายในเดือน ก.ค.นี้ จะมียาฟาวิพิราเวียร์ทยอยเข้ามาอีก 16 ล้านเม็ด ซึ่งการส่งมอบยังเป็นไปตามแผน ถือว่าเพียงพอกับสถานการณ์การระบาดในขณะนี้ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงสามารถจัดหาเพิ่มเติมได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากประสานผู้ผลิตในต่างประเทศไว้แล้ว

สำหรับอุปกรณ์ป้องกัน 10 รายการ ได้แก่ หน้ากาก N95, ชุด Coverall & Gown, Shoe cover, Hood cover, Face shield, Leg cover, Disposable cap, Surgical mask, Nitrile glove และ Disposable glove มีการจัดซื้อโดยงบประมาณเงินกู้

 

เพื่อให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีอุปกรณ์ป้องกันในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และป้องกันภาวะขาดแคลนในประเทศ โดยขณะนี้อุปกรณ์ป้องกันทุกรายการมีเพียงพอ

ด้าน นพ.วิทูรย์ กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรเตียง ต้องทำให้ปริมาณเตียงในระดับต่างๆ และการนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษามีความสัมพันธ์กัน สำหรับกรุงเทพฯ พบว่าเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวว่าง 20-24%, เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Cohort Ward) ว่าง 6%

 

ห้องแยกว่าง 13% และเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงโดยรวมว่าง 10% ซึ่งการบริหารจัดการในเตียงสำหรับผู้ป่วยแต่ละระดับ คือการเพิ่มสมรรถนะเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวให้สูงขึ้น เพื่อดูแลผู้ป่วยสีเหลืองได้เพิ่มมากขึ้น โดยทดแทนเตียงสำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว

โดยจะมีระบบให้กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวสามารถดูแลรักษาที่บ้าน หรือที่ชุมชนแทนภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับเพิ่มเตียงสีแดงมากขึ้นเท่าที่จะดำเนินการได้ การลดจำนวนผู้ป่วยที่จะกลายเป็นสีแดงเป็นเป้าหมายหลักในการบริหารจัดการ

 

การจะลดจำนวนผู้ป่วยสีแดง จากการศึกษาข้อมูลพบว่ากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค การระดมฉีดวัคซีนทั้ง 2 กลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุดครอบคลุม 80% ของประชากรในกรุงเทพฯ จะช่วยให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ มีภูมิต้านทานที่จะลดระดับของความรุนแรงของโรคลงได้

นพ.วิทูรย์ กล่าวต่อว่า สำหรับเตียงทั่วประเทศไม่รวมกรุงเทพฯ พบว่าเตียงสีเหลืองลดลงมีอัตราการใช้สูงที่สุด ซึ่งสัมพันธ์กับประเภทของผู้ป่วยที่เดินทางจากกรุงเทพฯ กลับไปยังจังหวัดภูมิลำเนา

ในประเด็นของการเคลื่อนย้ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกันเพื่อดูแลประชาชนอย่างดีที่สุดภายใต้ระบบ การเดินทางต้องดำเนินการอย่างถูกต้องและปลอดภัย

 

ขณะนี้หลายภาคส่วนได้ประสานงานร่วมกัน ได้แก่ การรับแจ้งผ่านสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะประสานการจัดหารถส่งตัวกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย ส่วนการเดินทางเองก็ต้องทำภายใต้คำแนะนำอย่างถูกต้อง

สำหรับเตียงสีแดงในภูมิภาคยังเหลือประมาณ 30% สามารถเพิ่มขยายได้ในศักยภาพที่กระทรวงสาธารณสุขดูแล ส่วนภาพรวมทั้ง 12 เขตสุขภาพ หลายเขตเริ่มใช้ทรัพยากรเกิน 80% แต่ทุกจังหวัดมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อป้องกันการขาดแคลนเตียง โดยจะบริหารอย่างดีที่สุดเพื่อดูแลผู้ป่วยในช่วงนี้

สำหรับทรัพยากรอื่นๆ มีการเตรียมอย่างเพียงพอ และย้ำว่าการปฏิบัติตามข้อแนะนำตามมาตรการเพื่อควบคุมโรค รวมถึงการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการเดินทาง สถานการณ์จะดีขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง