ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ต้องรับมือ แต่มิติการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความมั่นคงของ 2 ขั้วมหาอำนาจ และความเคลื่อนไหวทางทหารในตะวันออกกลาง และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากปัญหาการเมืองในอัฟกานิสถาน และถูกหยิบยกมาหารือในที่ประชุมสภากลาโหม

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ รมว.กลาโหม ย้ำจุดยืนการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ทางทหาร และสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่ายในเชิงสร้างสรรค์ สนับสนุนการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
รวมไปถึงสถานการณ์ในเมียนมาที่ยังเผชิญกับความรุนแรงภายในประเทศ ตามมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และวิกฤตโควิด-19 รุนแรง จึงต้องพร้อมรับมือผลกระทบกับทุกสถานการณ์ โดยยึดหลักเมตตาธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน

ปัจจัยจากสภาวะแวดล้อมของการเมืองระหว่างประเทศ ยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงของกระทรวงกลาโหม โดย พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการเหล่าทัพให้ขับเคลื่อนการปฏิรูปกองทัพตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปรับลดกำลังพลให้มีขนาดที่เหมาะสมกับกองทัพ เช่น ยุบรวมหน่วยที่มีความซ้ำซ้อน และพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถกองทัพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ต่อต้านสงครามไซเบอร์ในทุกรูปแบบ

อ้างอิงตามยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2560 - 2579 ที่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และถือเป็นแผนแม่บทหลักเตรียมกําลังและใช้กําลังในภาพรวมที่ทุกเหล่าทัพใช้กำหนดทิศทาง