"โมลนูพิราเวียร์" ตัวเปลี่ยนเกมรับมือโควิด-19

ต่างประเทศ
12 ต.ค. 64
19:33
2,378
Logo Thai PBS
"โมลนูพิราเวียร์" ตัวเปลี่ยนเกมรับมือโควิด-19
ยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ถูกมองว่าจะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการรักษาโควิด-19 ในอนาคต แต่ขณะนี้บริษัทเมอร์ค กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการโขกราคาในสหรัฐฯ สูงกว่าต้นทุนการผลิตถึง 40 เท่า

การยื่นเอกสารของบริษัทเมอร์ค ต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ เพื่อขออนุมัติใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของวงการสาธารณสุขโลก ในการรับมือกับโควิด-19

ยาโมลนูพิราเวียร์ ตัวนี้ถูกมองว่าจะเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการรักษาโควิด-19 ในอนาคต ขณะเดียวกันบริษัทเมอร์ค กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการโขกราคา ยาโมลนูพิราเวียร์ในสหรัฐฯ สูงกว่าต้นทุนการผลิตถึง 40 เท่า

การขยับตัวของเมอร์ค ส่งสัญญาณว่าความหวังในการใช้ยาต้านโควิด-19 ใกล้ความจริงมากขึ้น ยาโมลนูพิราเวียร์จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยระยะเริ่มต้นถึงปานกลางเพื่อลดโอกาสเข้าโรงพยาบาล

 

เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เมอร์คเผยแพร่ผลการทดสอบระยะที่ 3 ในอาสาสมัครไม่ต่ำกว่า 700 คน โดยยาตัวนี้ช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลได้ถึง 50% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประสิทธิภาพในการรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แกมมา และมูด้วย

ยาจะออกฤทธิ์เข้าไปทำให้รหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสผิดปกติ จนไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ ผู้ติดเชื้อสามารถรับประทานยาได้เองที่บ้าน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์

 

เมอร์คตั้งเป้าผลิตยาให้ได้ 10 ล้านคอร์ส ภายในสิ้นปีนี้ และเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตในปีหน้า สหรัฐฯ จัดหายา 1,700,000 คอร์ส ตกคอร์สละ 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 23,000 บาท โดย 1 คอร์ส ประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ด สำหรับผู้ป่วย 1 คน ผู้ป่วยแต่ละคนจะรับประทานยาตัวนี้ เป็นเวลา 5 วัน วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น ครั้งละ 4 เม็ด


การเปิดเผยราคาต่อคอร์สแตะหลักหมื่น ทำให้เมอร์คถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโขกราคาสูงจนเกินไป รายงานเชิงวิเคราะห์ของ Harvard School of Public Health พบว่า ยาตัวนี้มีราคาสูงเกินจริงถึง 40 เท่า เนื่องจากต้นทุนผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ตกคอร์สละ 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 600 บาทเท่านั้น

องค์การแพทย์ไร้พรมแดน เรียกร้องให้บริษัทเวชภัณฑ์ หลีกเลี่ยงการค้ากำไรเกินควรในช่วงเวลานี้ ขณะที่เมอร์คยังลงนามในสัญญา อนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการผลิตยาแก่บริษัทผู้ผลิตในอินเดีย การขยับตัวของบริษัทจะช่วยให้ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เข้าถึงยาง่ายขึ้นด้วย


หลายประเทศในเอเชีย เริ่มเจรจาต่อรองกับเมอร์ค เพื่อจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้รักษาผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขของไทยเสนอให้คณะรัฐมนตรี สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 2 แสนคอร์ส ในเดือนธันวาคมนี้ ขณะที่มาเลเซียสั่ง 150,000 คอร์ส เกาหลีใต้สั่ง 20,000 คอร์ส และออสเตรเลียสั่ง 300,000 คอร์ส

แม้ว่ายาตัวนี้จะถูกจับตามองในฐานะตัวเปลี่ยนเกม แต่วัคซีนก็ยังเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการที่โลกเรามีทั้งยาและวัคซีน จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของการผ่อนปรนมาตรการเพื่อเปิดประเทศ

 

ที่มา : Reuters, Bloomberg, The New York Times, Havard School of Public Health, Russia Today

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง