อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งนายก อบต.และสมาชิก อบต.แล้ว หลังว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน ผลสำรวจของ กกต.ระบุว่าผู้มีสิทธิร้อยละ 73.5 จะไปใช้สิทธิแน่นอน
โครงสร้างรัฐไทย ไม่เอื้อท้องถิ่นมีบทบาท
รศ.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ที่ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ออนไลน์ มองถึงปัญหาของ อบต.ที่ไม่อาจตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนได้ตามที่คาดหวังเนื่องจากมีปัญหาที่สำคัญคือโครงสร้างรัฐที่รวมศูนย์
รศ.อลงกรณ์ ระบุว่า โครงสร้างรัฐไทยไม่เอื้อให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบต.ที่มีอำนาจอย่างจำกัดในการจัดการทรัพยากรและบริการสาธารณะในพื้นที่ เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมจากส่วนกลาง ทั้งที่ปัญหาของประชาชนนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งการแก้ไขปัญหาอยู่กับ กรมป่าไม้ ปัญหาประชาชนริมน้ำขึ้นอยู่กับกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน หรือ ปัญหาน้ำแล้งในการปลอ่นน้ำจากเขื่อนก็ขึ้นอยู่กับกรมชลประทาน
ดังที่เห็นได้จากไทยกฎหมายต่าง ๆ มากมาย และมีกรมต่าง ๆ รวมกว่า 200-300 กรม ซึ่งก็ไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันที่ดีพอ ซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของประชาชนกว่า 7,000 ตำบล หรือ กว่า 70,000 หมู่บ้าน
ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องการให้แก้ไขอยู่ในพื้นที่ แต่การอนุมัติการแก้ไขปัญหาอยู่ที่ส่วนกลาง เมื่อชาวบ้านเรียกร้องไปยัง อบต.แล้ว อบต.ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
สาเหตุที่ อบต.มีอำนาจอย่างจำกัด เพราะรัฐไทยสร้างให้พื้นที่มีราชการส่วนกลางและภูมิภาคเข้มแข็งมากจนไปกดทับท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นไม่แข็งแรงและไม่เติบโต
ดังที่เห็นได้ชัดจาก ในช่วงของการแก้ไขสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งในระหว่างที่รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่บริการสาธารณะต่าง ๆ มีน้อยมาก ซึ่งท้องถิ่นควรที่จะทำหน้าที่นั้นได้โดยดำเนินการควบคู่กันไป แต่ก็ไม่มีอำนาจในการดำเนินการบริการสาธารณะต่าง ๆ จึงชะงักไปด้วยเช่น การดูแลเด็ก การดูแลกีฬา หรือ อื่น ๆ
อบต.ขนาดเล็กงบฯน้อย อบต.งบฯเยอะขาดอำนาจ
รศ.อลงกรณ์ ยังกล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญของ อบต.คืองบประมาณ เนื่องจากรายได้จากภาษีของส่วนกลางเป็นโครงสร้างภาษีขนาดใหญ่เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ขณะที่ส่วนท้องถิ่นจะมีภาษีที่เก็บได้น้อยกว่า เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นรายได้ที่น้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบต.ขนาดเล็กห่างไกลที่ไม่มีห้างร้าน จะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีดังกล่าวได้น้อย
ด้าน อบต.ขนาดใหญ่ หรือ อบต.ในเขตเมือง แม้ว่าจะจัดเก็บงบประมาณได้มากราว 300 - 400 ล้านบาท แต่ก็มีอำนาจจำกัดในการใช้งบประมาณ จึงไม่สามารถทำให้เกิดโครงการที่ตอบสนองต่อท้องถิ่นได้ เช่น การสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ดังนั้นจึงเห็นโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
การตรวจการทุจริตของ อบต.ก็เป็นเรื่องดี เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงการสามารถตรวจสอบได้ แตกต่างจากหลายองค์กรที่ไม่มีข่าวเช่นนี้เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้งบประมาณจากส่วนกลางโดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณที่ถูกจัดสรรตามภารกิจและรายจ่ายประจำของสมาชิก อบต.นายกฯ และข้าราชการจึงทำให้งบลงทุนที่เหลืออยู่ 30 – 40 % ซึ่งเมื่อจัดสรรจากระดับตำบลไปยังหมู่บ้านต่าง งบประมาณในแต่ละปีจึงเหลือน้อย
อบต.แทบจะเป็นเพียงไปรษณีย์หรือทางผ่านของงบประมาณเท่านั้น เพราะงบที่ถูกจัดสรรลงไป สุดท้ายจะเหลืองบลงทุนราว 30 – 40 % ซึ่งน้อยมาก
ข้อดีเลือก อบต."ปชช.เชื่อมโยงการเมือง-กระตุ้นศก."
อย่างไรก็ตาม รศ.อลงกรณ์ มองว่า การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้มีข้อดีคือ ในช่วง 8-10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนกับการปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ขาดการเชื่อมโยงกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเริ่มกลับมามีความเชื่อมโยงกันอีกครั้ง ตั้งแต่มีการเลือกตั้ง อบจ.เลือกตั้ง เทศบาล รวมถึง การเลือกตั้ง อบต.ในครั้งนี้
นอกจากนี้ การเลือกตั้ง อบต.ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีมากโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งมีการใช้จ่ายผ่านการจ้างทีมงาน การจัดทำแผ่นป้าย แผ่นพับ รถแห่ ซึ่งรวมทั้งหมดจะทั้งการเลือกตั้งสมาชิก อบต.และ นายก อบต.เม้ดเงินโดยรวมจะอยุ่ที่ราว 15,000 ล้านบาท
รวมถึง สิ่งที่เห็นได้ชัดในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้มีความรู้ความสามารถที่มากขึ้นทั้งจากอายุที่น้อยลง รวมถึง ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งจะพบว่ามีทั้งผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท รวมถึงเจ้าหน้าที่ก็จบการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ดังนั้น ภาพลักษณ์ของ อบต.จึงไม่ใช่ภาพเดิมที่เคยเห็นมาตลอด 20 ปีแล้ว
แท็กที่เกี่ยวข้อง: