กว่า 2 ปีมานี้ การแก้ปัญหาเอชไอวีในแถบแอฟริกาได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การอุบัติของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในบางกรณี อาจกลายพันธุ์ในร่างกายของผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แอฟริกาใต้พบการกลายพันธุ์ของโควิด-19 กว่า 30 ตำแหน่ง ในตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยผู้ติดเชื้อคนนี้ไม่ได้รับประทานยาต้านไวรัสและเชื้อโควิด-19 ฟักตัวอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานกว่า 7 เดือน
ผู้อำนวยการมูลนิธิเอชไอวี Desmond Tutu อธิบายว่า เชื้อโควิด-19 จะฝังตัวในร่างกายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ยิ่งเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกายมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสจะเกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่งต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น
กรณีที่เกิดขึ้นอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งกำเนิดการกลายพันธุ์ของโควิด-19
ศาสตราจารย์ซาลิม คาริม อดีตประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านโควิด-19 แห่งแอฟริกาใต้ ย้ำว่า ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เป็นสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้สูง
แอฟริกาใต้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในโลก 8 ล้านคน ซึ่งประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อ ไม่ได้รับยาต้านไวรัส เนื่องจากการเปิดเผยสถานะการตรวจหาเชื้อเอชไอวี อาจทำให้ผู้ติดเชื้อเผชิญต่อการเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม
การเร่งแก้ไขปัญหาเอชไอวีอย่างจริงจัง ถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการลดความเสี่ยงในการกลายพันธุ์ได้
สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำแอฟริกา ออกแถลงการณ์ว่า อัตราการติดเชื้อเอชไอวีลดลงถึงร้อยละ 43 แต่อัตราส่วนเหล่านี้ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอุปสรรคสำคัญ
ขณะที่ การใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมโรคทำให้อัตราการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวีชะลอตัวลง
โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ตั้งเป้ากำจัดโรคเอดส์ให้หมดไปภายในปี 2030 หรือในอีก 9 ปีข้างหน้า ทุกประเทศทั่วโลกควรหันมาฉีดวัคซีนให้ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพื่อสกัดกั้นการเกิดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตขณะพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล