ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่องธุรกิจ รพ.เอกชนปี 65 สัญญาณรายได้ฟื้น จับตากลุ่ม Medical Tourism

เศรษฐกิจ
27 ธ.ค. 64
17:30
1,168
Logo Thai PBS
ส่องธุรกิจ รพ.เอกชนปี 65 สัญญาณรายได้ฟื้น จับตากลุ่ม Medical Tourism
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปีนี้จะขยายตัว 11.8% และอาจฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับในปี 65 ขณะที่ธุรกิจสินค้าเภสัชภัณฑ์ฯ ส่งสัญญาณดี-มีผู้ประกอบการหน้าใหม่เพิ่ม

เกือบ 2 ปีที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดในเร็ววัน ประกอบกับการเกิดเชื้อกลายพันธุ์ "โอมิครอน" ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการยา อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงความต้องการใช้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 โดยคาดว่า รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะขยายตัว 11.8% เทียบกับปี 2563 ที่หดตัว 12.5% ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของรายได้ที่มาจากคนไข้ในประเทศที่ตรวจและรักษาโควิด รวมถึงกลุ่ม EXPAT (ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย) ที่เริ่มกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลบางส่วน

นอกจากนี้ยังมองว่าในปี 2565 และระยะถัดไป รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนอาจมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัว ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ สถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงการกลับมาของคนไข้กลุ่ม Medical tourism (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ด้วย

ขณะที่สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง มีข้อมูลจากกองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในเดือน ม.ค.-เม.ย.2564 มีการจัดตั้งธุรกิจขายปลีก-ส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ฯ จำนวน 535 ราย เพิ่มขึ้น 24.42% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2564 มีธุรกิจขายปลีก-ส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ฯ ที่ดำเนินกิจการอยู่ จำนวน 10,386 ราย คิดเป็น 1.31% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 82,286.84 ล้านบาท คิดเป็น 0.42% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

ส่วนการส่งออกเครื่องมือแพทย์ กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ในช่วง 9 เดือน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีอัตราการส่งออกเติบโต 22.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 มูลค่า 24,988 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปี 2564 จะเติบโตแตะ 29.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 205,664 ล้านบาท

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 วิจัยกรุงศรี เคยคาดการณ์มูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโต 3.0% มูลค่าการส่งออกจะเติบโต 20-24% ส่วนในปี 2564-2565 คาดว่ามูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะเฉลี่ยที่ 5.0% ต่อปี

ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุน คือ แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น, จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง, จำนวนผู้ป่วยต่างชาติมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในปี 2564-2565, แผนการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่และด้านเครื่องมือการแพทย์, กระแสการใส่ใจสุขภาพของคนไทยเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub (ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ)

 

อ่านข่าวอื่นๆ

กพท.ให้ผู้โดยสารกรอกใบยินยอมตรวจโควิดก่อนลงเครื่อง

ประเมิน "โอมิครอน" กระทบจีดีพี เสี่ยงโตต่ำกว่า 3.0-3.8%

กางแผนรับมือ "โอมิครอน" ระลอกใหม่ เตียง-ยา-บุคลากรพร้อม?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง