ย้อนรอย 80 ปี ความขัดแย้ง "กะเหรี่ยง-เมียนมา"

ภูมิภาค
29 ธ.ค. 64
19:05
2,345
Logo Thai PBS
ย้อนรอย 80 ปี ความขัดแย้ง "กะเหรี่ยง-เมียนมา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ย้อนรอย 80 ปี ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับเมียนมา ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนการสู้รบจะปะทุขึ้นมาอีกครั้งบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และยืดเยื้อมานานกว่า 2 สัปดาห์

ยุคล่าอาณานิคม อังกฤษว่าจ้างชาวกะเหรี่ยง ร่วมรบกับราชสำนักเมียนมา ต่อมาในปี พ.ศ.2485 อังกฤษก่อตั้งกองพลชาติพันธ์ุกะเหรี่ยง เพื่อรบกับญี่ปุ่นในสงครามมหาบูรพา ขณะที่นายอองซาน บิดาของนางอองซาน ซูจี ได้ร่วมตั้งกองทัพเพื่อเอกราชพม่าต่อต้านอังกฤษหรือ BIA ทำให้ BIA มองว่าชาติพันธ์กะเหรี่ยงช่วยอังกฤษรบ จนเกิดการสู้รบระหว่างกลุ่มอองซาน กับกะเหรี่ยงมาโดยตลอด คาดการณ์ว่า มีชาวบ้านและทหารกะเหรี่ยง เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน

4 ม.ค.2491 เมียนมาได้เอกราชจากอังกฤษ กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้องแยกตัวเป็นเอกราช รวมถึงกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ที่ต้องการแยกรัฐกะเหรี่ยงเป็นพื้นที่ของตนเอง

ปี 2519 เมื่อนายพลโบ เมียะ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำกลุ่ม KNU มีการพัฒนา และขยายกองทัพที่ทันสมัยจากรายได้มหาศาลบริเวณด่านชายแดนการค้าตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน ถึง จ.กาญจนบุรี โดยหนึ่งในสินค้าที่สร้างรายได้ คือ ไม้สัก

ปี 2537 KNU เกิดการแตกแยกไปตั้งกลุ่มใหม่ในชื่อ กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตยฝ่ายพุทธ หรือ DKBA และ กองกำลังก็อดอาร์มี่ (God's Army) ทำให้กองกำลัง KNU อ่อนแอ กระทั่งต้องสูญเสียกองบัญชาการใหญ่ "มาเนอพลอ" และอีกหลายค่าย ที่ติดกับชายแดนไทย ให้กับกองทัพเมียนมา การสู้รบทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องหนีเข้าประเทศไทยหลายหมื่นคน ปัจจุบันยังอยู่ในศูนย์ที่พักพิงผู้หนีภัยสงคราม ใน จ.ตาก


ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา KNU ดึง 5 กองกำลังติดอาวุธที่แยกตัวออกไปเป็น 1 กองทัพ 7 กองพลควบคุมพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง รวมถึง 5 กลุ่มเมือง ให้เป็นพรรคการเมืองเดียว ขณะเดียวกันนอกจากอาวุธเดิมที่จัดหาในยุค KNU รุ่งเรื่อง ปัจจุบันยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศแต่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับอดีต

ขณะที่การสู้รบที่ปะทุขึ้นอีกครั้งและยืดเยื้อมากว่า 2 สัปดาห์ มีสาเหตุมาจากกองทัพเมียนมาจับกลุ่มต่อต้าน หรือ PDF ที่ได้รับการฝึกจากกองพลที่ 6 ของ KNU กว่า 80 คน ซึ่งหลังก่อความไม่สงบในการโจมตี และทำลายสถานที่ราชการได้หลบซ่อนตัวในหมู่บ้านเลเตอก่อจังหวัดเมียวดี พื้นที่อิทธิพลของ KNU ทำให้ฝ่าย KNU ไม่พอใจจนเกิดการสู้รบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง