"รักลูกให้ตี" ? เมื่อลูกกลายเป็น "สมบัติ" ที่ถูกพ่อแม่ทำร้าย

สังคม
5 ม.ค. 65
16:58
1,318
Logo Thai PBS
"รักลูกให้ตี" ? เมื่อลูกกลายเป็น "สมบัติ" ที่ถูกพ่อแม่ทำร้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"จะเด็จ เชาวน์วิไล" ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แนะปรับค่านิยมลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ โดยใช้กลไกทางสังคมและกฎหมาย หยุด "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ที่ยังฝังอยู่ในค่านิยมของพ่อ-แม่บางกลุ่ม จนทำให้ข่าวเศร้าพ่อ-แม่ทำร้ายลูกมีให้เห็นผ่านหน้าจอวันเว้นวัน

จากกรณีแม่แท้ ๆ ของเด็กชายสายฟ้า อายุ 6 ขวบ จ.ตราด สารภาพทำร้ายเด็กจนเสียชีวิต ขณะที่ผลชันสูตรพบเสียชีวิตจากสมองบวม กะโหลกศีรษะร้าว พร้อมแจ้งข้อหาแม่และพ่อเลี้ยง ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : แม่เด็กสารภาพทำร้ายลูก 6 ขวบ ผลชันสูตรสมองบวม-กะโหลกร้าว

วันนี้ (5 ม.ค.2565) นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ โดยระบุว่า สถิติการนำเสนอข่าวความรุนแรงต่อลูกทั้งจากพ่อ-แม่จริง พ่อ-แม่เลี้ยง ทำร้ายลูกเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีอย่างมีนัยยะ สะท้อนว่าสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวไม่ดีนัก และคาดว่าที่ไม่เป็นข่าวยังมีอีกจำนวนมาก

เฉพาะปี 2563 พบการเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัว 593 ข่าว ในจำนวนนี้ แบ่งตามความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ถึง 61 ข่าว เป็นข่าวพ่อกระทำต่อลูก 18 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยกระตุ้น 10 ข่าว ยาเสพติด 5 ข่าว และแม่กระทำต่อลูก 8 ข่าว 

นายจะเด็จ ยอมรับว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรง มาจากการปลูกฝังค่านิยมชายเป็นใหญ่ จนทำให้รู้สึกมีอำนาจ จึงพบข่าวพ่อทำร้ายลูก หรือทำร้ายภรรยา  ประกอบกับปัจจัยเรื่องของแอลกอฮอล์ สารเสพติด ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สุภาษิต "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ยังคงฝังอยู่ในค่านิยมของคนเป็นพ่อ-แม่ที่กล้าทำร้ายลูก เพราะคิดถึงความเป็นเจ้าของ คิดว่าลูกเป็นสมบัติของตัวเอง เมื่อลูกทำผิดหรือไม่เชื่อฟังก็พร้อมจะลงโทษเพื่อสั่งสอน ซึ่งถือว่าเป็นค่านิยมที่ผิด

หากดูสถิติจะพบว่ายิ่งเด็กมากเท่าไหร่ ยิ่งถูกทำร้ายมากเท่านั้น อายุเฉลี่ยของผู้ที่ถูกทำร้ายในครอบครัวมากที่สุด อยู่ที่ 10-20 ปี รองลงมาคือ 0-10 ปี

สะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งเด็กมาก ยิ่งไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีอำนาจที่จะพูดคุยเมื่อถูกทำร้าย อีกทั้ง สังคมยังมองว่า การต่อสู้เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกทำร้ายกลายเป็นเรื่องความอกตัญญู

กฎหมายกับทางออกความรุนแรงในครอบครัว

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า กฎหมายคุ้มครองเด็กเป็นกลไกสำคัญในการยุติความรุนแรงในครอบครัว เช่นเดียวกันกับการสร้างค่านิยมให้สังคมเปลี่ยนแนวคิด และค่านิยมว่าเด็ก หรือลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ที่สามารถทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งการทำร้ายร่างกาย 

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เป็นกฎหมายที่ครอบคลุม และช่วยคุ้มครองเด็กจากการถูกทำร้ายได้ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับข้อมูล และข้อกฎหมายเพื่อต่อสู้กับการถูกทำร้ายมากขึ้น และไม่ยอมรับการถูกใช้อำนาจผ่านการทำร้ายร่างกายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่สังคม หรือคนรอบข้างก็ควรเข้ามาช่วยเหลือหากพบเห็นความรุนแรง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาได้ 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ทนายแจม" แนะกฎหมาย 2 ฉบับสู้คดีพ่อทำร้ายลูก

เด็ก-ผู้หญิงถูกทำร้ายในครอบครัวมากกว่า 1 ครั้ง สูงถึง 75%

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง