4 สถานที่เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ อวกาศและเทคโนโลยีต่าง ๆ ในไทย

Logo Thai PBS
4 สถานที่เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ อวกาศและเทคโนโลยีต่าง ๆ ในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัจจุบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ อวกาศและเทคโนโลยี เป็นอีกสิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และวิชาเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่แค่เพียงในห้องเรียน ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ช่วยเสริมประสบการณ์ให้กับเยาวชนและประชาชนผู้ที่สนใจ

การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ อวกาศและเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากการศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของศูนย์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์หลายองค์ประกอบที่ช่วยเสริมการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนผู้ที่สนใจวิทยาศาสตร์ อวกาศและเทคโนโลยี ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าวกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ


ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาหรือท้องฟ้าจำลองกรุงเทพหนึ่งในสถานที่เรียนรู้ในความทรงจำวัยเด็กของใครหลายคน ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2505 และเป็นเวลากว่า 60 ปี สถานที่แห่งนี้ได้อยู่คู่กับสังคมไทย ภายในบริเวณของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพประกอบด้วยพื้นที่ส่วนต่าง ๆ มากมาย เช่น อาคารท้องฟ้าจำลองเป็นสถานที่ตั้งของโดมท้องฟ้าจำลองขนาดใหญ่ที่แสดงภาพของอวกาศและบรรยายให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อาคารโลกใต้น้ำ อาคารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาคารความตระหนักรู้ด้านพลังงาน

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.30 น. ปิดบริการ วันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แผนที่การเดินทาง https://goo.gl/maps/q82R6Jpz1o78cJCa7

ท้องฟ้าจำลองรังสิต ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต


ท้องฟ้าจำลองรังสิตแหล่งเรียนรู้ที่กล่าวกันทันสมัยมากที่สุดในอาเซียน โดยเป็นสถานที่ตั้งของเครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนสามารถจำลองภาพของอวกาศ ระบบสุริยจักรวาล ดาวเคราะห์ ข้อมูลอวกาศที่มีความน่าสนใจ การฉายภาพระดับ 4K รองรับผู้เข้าชมต่อรอบได้กว่า 160 ที่นั่ง

ท้องฟ้าจำลองรังสิต ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 08.30-16.30 น. ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี แผนที่การเดินทาง https://goo.gl/maps/98w6RrufferS7jxu8

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ


องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติก่อสร้างในปี พ.ศ. 2535 โดยตัวอาคารมีจุดเด่นรูปทรงทันสมัยรูปทรงอาคารเชิงเรขาคณิต โครงสร้างทางวิศวกรรมรูปทรงลูกบาศก์เป็นฐานของตัวอาคาร โดยมีลักษณะคล้ายลูกบาศก์ 3 ลูก พิงกันอย่างมั่นคงโครงสร้างของฐานรับน้ำหนักเพียง 3 จุด ๆ ละ 4,200 ตัน นิทรรศการที่น่าสนใจ เช่น การแสดงประวัติความเป็นมาขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย ประวัติและความเป็นมาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สถานที่ตั้งขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตั้งอยู่บริเวณ ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 เปิดให้บริการเฉพาะวัน ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 09.30 - 17.00 น.
แผนที่การเดินทาง https://goo.gl/maps/BMAojWjRcdFX9Aot7

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2546 โดยมีจุดประสงค์มุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลด้านธรรมชาติธรณีวิทยา โดยตัวอาคารตั้งอยู่ในบริเวณองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยมีการแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน ห้องปฏิบัติการ ห้องควบคุม ห้องสมุด พื้นที่แสดงนิทรรศการถาวร 1,000 ตารางเมตร คลังเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์ทุกชนิด คลังเก็บวัสดุตัวอย่างแห้ง และคลังเก็บวัสดุตัวอย่างเปียก พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร อุทยานล้านปี ห้องเขาสัตว์ อาณาจักรสัตว์

สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี 55 หมู่ 5 ถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เปิดให้บริการเฉพาะวัน ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 09.30 - 17.00 น.
แผนที่การเดินทาง https://g.page/NGMDinoMuseum?share

ที่มาข้อมูล: อพวช., พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต, ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - Bangkok Planetarium, ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา(ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง