วันนี้ (5 ก.พ.2565) น.ส.รังสิพรรณ พูลพันธ์ เจ้าของร้านในตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการ "คนละครึ่ง" ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น และยังสั่งอาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายโดยรวม
แต่ก็รู้สึกกังวลภาระภาษีที่อาจเพิ่มขึ้นเช่นกัน หลังทราบข่าวร้านค้าในโครงการหลายแห่ง เริ่มปลดป้ายชื่อโครงการ และปฏิเสธรับชำระผ่านโครงการ เนื่องจากถูกกรมสรรพากร เรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนมาก

สอดคล้องกับผู้ประกอบการร้านค้า ย่านประชาชื่น และพหลโยธินบางส่วน ยอมรับว่า ร้านค้าไม่รับชำระผ่านโครงการคนละครึ่งแล้ว หลังถูกกรมสรรพากร เรียกเก็บภาษีย้อนหลังมูลค่านับแสนบาท
โดยร้านไม่มีเจตนาหลบเลี่ยงภาษี แต่ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณ และการยื่นแบบฯ เสียภาษีอย่างถูกต้อง จึงตัดปัญหาด้วยการงดรับชำระผ่านโครงการ
ขณะที่ผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการคนละครึ่งบางส่วน บอกว่า ยังไม่เคยเจอร้านค้าที่ปฏิเสธรับชำระผ่านโครงการ และเห็นว่า ร้านค้าได้ประโยชน์จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น จึงควรเสียภาษีให้ถูกต้อง และปฏิบัติตามวัตถุประสงค์โครงการ
ปัญหาเรียกเก็บภาษี ไม่กระทบร้านค้าเข้าโครงการ
นายพรชัย ฐิระเวช ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า จำนวนร้านค้า ในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ขณะนี้มีมากกว่า 1,330,000 ร้านค้า และมีผู้ประกอบการรายใหม่ เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอีก 46 ร้านค้า
จึงเชื่อว่า ปัญหาการถูกเรียกเก็บภาษี ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ พร้อมยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้เชื่อมระบบฐานข้อมูลกับกรมสรรพากร แต่กรมสรรพากร อาจมีวิธีการประเมินรายได้ และตรวจสอบการเสียภาษีตามปกติ
ผู้ประกอบการรายย่อยต้องยื่นภาษี
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายย่อย ในโครงการคนละครึ่ง สามารถยื่นแบบฯ เสียภาษีบุคคลธรรมดา จากยอดขายรวมหักกับค่าใช้จ่ายแบบเหมา ร้อยละ 60 และ หักค่าลดหย่อนส่วนตัวและค่าลดหย่อนอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 60,000 บาท
พร้อมกับยื่นแบบฯ ภาษีครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด.94 และภาษีประจำปี ภ.ง.ด.90 หากมียอดขายสุทธิ เกินปีละ 1,800,000 บาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากไม่ยื่นแบบฯ เสียภาษี จะมีโทษปรับ 2,000 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ของภาษีที่ต้องชำระ