"จุรินทร์" โต้แพงทั้งแผ่นดินไม่จริง - ไข่ไก่ถูกกว่าหลายรัฐบาล

การเมือง
18 ก.พ. 65
15:30
219
Logo Thai PBS
"จุรินทร์" โต้แพงทั้งแผ่นดินไม่จริง - ไข่ไก่ถูกกว่าหลายรัฐบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"จุรินทร์" โชว์ตัวเลขเงินเฟ้อไทยยังต่ำ โต้ประเด็นสินค้าแพงทั้งแผ่นดินไม่จริง ราคาไข่ไก่ยังถูกกว่าหลายรัฐบาล ชี้ราคาน้ำมันทำค่าขนส่งสูง ส่วนคดีทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้านบาม ไล่ออก 3 คน เอาผิดทางละเมิด 3 คน ต้องชดใช้ค่าเสียหาย

วันนี้ (18 ก.พ.2565) ในการอภิปรายทั่วไป เวลา 12.21 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงประเด็นสินค้าราคาแพง ว่า ต้นเหตุสำคัญเกิดจากราคาพลังงานสูงขึ้น ซึ่งน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มต้นทุนของการขนส่งถึง 40% โดยเฉพาะค่าขนส่งระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างค่าบรรทุกตู้ขนาด 40 ฟุต เพิ่มจาก 49,000 บาทต่อตู้ เป็น 56,000 บาทต่อตู้

ราคาน้ำมันมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะไทย ตัวอย่างสหรัฐฯ ราคาสินค้าพุ่งในรอบ 39 ปี ทั้งอาหาร เชื้อเพลิง เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์

ยืนยันภาวะ "เงินเฟ้อไทย" ยังต่ำ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไทยยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าหลายประเทศ โดยปี 2564 ภาวะเงินเฟ้อของไทยเป็นบวกเพียง 1.23% เมื่อเปรียบเทียบกับ 177 ประเทศ ไทยเงินเฟ้อต่ำเป็นอันดับที่ 154 ในปี 2564 หมวดสินค้าสำคัญของไทยที่สูงขึ้นชัดเจน คือ หมวดการขนส่ง เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อบวกเป็น 7.74% ส่วนหมวดอื่น ๆ ต่ำลงเกือบทั้งหมด เช่น อาหารเครื่องดื่ม เงินเฟ้อ -0.13% เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า -0.27% เคหสถาน -1.73% ถ้าจะใช้คำว่าแพงทั้งแผ่นดินก็ไม่ตรง เพราะสินค้าหลายตัวราคาลดต่ำลง

 

ราคาสินค้าที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าแพงขึ้น ตั้งแต่เดือน ม.ค.65 ช่วงปีใหม่ถึงตรุษจีน เป็นช่วงที่คนไทยจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ภาวะเงินเฟ้อเดือน ม.ค.เป็นบวก 3.23% แต่ยังต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในโลก เช่น ญี่ปุ่นราคาไก่ขึ้น 71% ไข่ราคาขึ้น 15% ส่วนไทยอยู่ในภาวะเงินเฟ้อไม่สูงมาก ราคาสินค้าไม่เพิ่มสูงมาก ยกเว้นหมู เพราะมาตรการในการตรึงราคาสินค้า และใช้มาตรการอื่น ๆ

 

นายจุรินทร์ ชี้แจงราคาสินค้าว่า ได้ตรึงราคาสินค้า 18 กลุ่มสินค้าสำคัญได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้า ชอสปรุงรส อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง นม-ผลิตภัณฑ์จากนม อาหารสัตว์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง กระดาษ เหล็ก ปูนซีเมนต์ ยา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ น้ำมันพืช อาหารสด (ไข่ไก่ หมู) ผลิตภัณฑ์ซักล้าง และบริการค้าปลีกค้าส่ง

 

ประเด็นประกาศขึ้นราคาไข่ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหาเสร็จสิ้นภายใน 4 วัน ทำให้ราคากลับมาสู่ภาวะปกติ โดยวันที่ 10 ม.ค.65 สมาคมผู้เลี้ยง ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ส่งออกไข่ไก่ ประกาศแจ้งปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มจาก 2.80 บาท/ฟอง เป็น 3 บาท/ฟอง วันต่อมาได้มีการเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายได้รับความร่วมมือและตรึงราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ 2.90 บาท/ฟอง

โชว์ตัวเลขราคา "ไข่" ถูกกว่ารัฐบาลหลายยุค

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.65 ถึงปัจจุบัน ไข่คละหน้าฟาร์มยังไม่ขึ้นราคาเกินกว่าที่กำหนด 2.90 บาท/ฟอง ส่วนไข่เบอร์ 3 เดือน ม.ค.ตัวเลขเฉลี่ย อยู่ที่ 3.46 บาท/ฟอง เดือน ก.พ. 3.45 บาท/ฟอง ส่วนในห้างราคา 3.26-3.33 บาท/ฟอง ไม่ถึง 3.50 บาท/ฟอง ยุคนี้ราคาไข่สูงสุดยังถูกกว่าหลายยุครัฐบาลที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ได้ประกาศให้ "ไก่" เป็นสินค้าควบคุม ไม่ให้ขึ้นราคา กำหนดราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มไม่เกิน กก.ละ 40 บาท พร้อมขอความร่วมมือ 3 ห้างใหญ่ กำหนดราคาชี้นำ จำหน่ายไก่สดทั้งตัวไม่เกิน กก.ละ 60 บาท น่องติดสะโพกไม่เกิน กก.ละ 65 บาท เนื้อหน้าอกไม่เกิน กก.ละ 75 บาท

ยอมรับราคา "น้ำมันปาล์มขวด" สูง

ต้องยอมรับราคาน้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้นจริงอย่างมีนัยสำคัญ ราคาอยู่ที่ขวดละ 50-60 บาท แต่เป็นผลจากการแก้ราคาสินค้าเกษตร ปาล์มดิบสูงขึ้นแตะ 9-12 บาท/กก. โดยคุมเข้มการลับลอบนำเข้าไทย กำหนดลานเท โรงสกัด ต้องทำบัญชีปาล์มดิบ-น้ำมันปาล์มทั้งหมด และส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์ม

อย่างไรก็ตาม ยังสามารถกำกับราคาน้ำมันปาล์มขวดได้ ไม่ให้สูงเกินจนเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หรือค้ากำไรเกินขวด นายจุรินทร์ยังระบุว่า ไม่สามารถกดราคาถูกลงเกินได้ เพราะจะมีปัญหาผู้ประกอบการแบกรับไม่ไหวและหยุดผลิตตามมาได้

ชี้แจงปัจจัยราคา "หมูแพง" พร้อมเร่งแก้

ส่วนราคาหมูยอมรับว่าแพงจริง ซึ่งรัฐบาลใช้ความพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ และทำให้ราคาหมูปรับลดลงมาแล้วในช่วงนี้ ซึ่งสาเหตุที่ราคาหมูสูงขึ้น เนื่องจากช่วง 1-2 เดือนนี้ สูญเสียแม่พันธุ์ 30-40% ปกติหมูจะเข้าสู่ระบบปีละ 19-20 ล้านตัว แต่ปี 65 ปริมาณหมูคาดว่าเข้าสู่ตลาด 13-14 ล้านตัว ทำให้ราคาสูงขึ้นจากกลไกทางการตลาด ผลผลิตลดน้อย แต่ความต้องการยังเท่าเดิม อีกทั้งเกษตรกรพักเลี้ยง พักเล้า หลังต้นทุนหมูสูงขึ้น โดยกรมปศุสัตว์ เร่งผลิตลูกหมูให้ได้เดือนละ 300,000 ตัว ธกส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ส่วน ก.พาณิชย์ สั่งห้ามส่งออกหมู 3 เดือน พร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสต๊อกหมูทั่วประเทศ ป้องกันการกักตุนและเอาเปรียบผู้บริโภค ล่าสุดจากการตรวจสต๊อกหมูทั่วประเทศ พบความผิด 38 คดี มากที่สุดไม่ขออนุญาตขนย้าย 20 ราย ไม่แจ้งปริมาณครอบครอง 15 ราย ขณะนี้มีการอายัดหมูกว่า 900,000 กก. หากไม่พบความผิดจะเร่งนำออกสู่ระบบ ยกเว้นที่ยังพิสูจน์ไม่ได้

ทั้งนี้ ราคาหมูลดลงภายในเวลา 3-4 สัปดาห์ โดยราคาหมูหน้าฟาร์มลดลงจาก 100-110 บาท เหลือ 94-95 บาท ราคาขายปลีกในห้างลดลงทุกวัน ล่าสุดหมูเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่ 158 บาท/กก.

ภาวะสินค้าที่แพงช่วงต้นปี ตอนนี้คลี่คลายอย่างมีนัยสำคัญเป็นลำดับ

 

ส่วนราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ นายจุรินทร์ ระบุว่า ช่วงนี้ราคาดีขึ้นเกือบทุกตัว เช่น ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ยปี 64 อยู่ที่ตันละ 8,918 บาท เดือน ม.ค.65 อยู่ที่ตันละ 8,156 บาท เดือน ก.พ.ตันละ 8,329 บาท

นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงเรื่องการส่งออกผลไม้ไปจีน ว่า ปกติไทยส่งออกผลไม้ผ่านทางเรือมากที่สุด 50% ทางบก 40-50% และทางอากาศ โดยปัญหาปี 63-64 การส่งออกทางบกมีปัญหาจากการปิดด่าน อีกทั้งจีนใช้แนวทางแบบ Zero COVID-19

อย่างไรก็ตาม ได้ร่วมมือกับทูตพาณิชย์ ทูตเกษตร กระทรวงต่างประเทศ แก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ปี 64 ส่งผลไม้ไปจีนได้สูงมาก จำนวน 160,000 ล้านบาท ส่วนปี 65 ขณะนี้ 4 ด่านสำคัญของจีนยังเปิดทำการ แต่เข้มงวดคุม COVID-19 ตรวจทุกตัวว่ามี COVID-19 หรือไม่ ทำให้การจราจรติดขัด นอกจากนี้เจรจาจากจีน ขอให้ล้งที่ผ่านอบรมหลักสูตรปลอด COVID-19 สามารถผ่านด่านได้โดยการสุ่มตรวจแทนการตรวจทุกตู้ ยืนยันว่าผลไม้ไทยยังส่งออกได้ หากติดขัดจะเร่งแก้ปัญหาหน้างาน

 

สั่งไล่ออก 3 เอาผิดทางละเมิด 3 คน ทุจริตถุงมือยาง

ส่วนความคืบหน้าการสอบเรื่องทุจริตถุงมือยาง 2,000 ล้านบาท หากใครเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจะเอาผิด โดยตั้งกรรมการสอบวินัยและทางละเมิด ชุดวินัยสอบแล้วเสร็จมี 3 คนที่ชี้ว่าไล่ออก ล่าสุดไล่ออกแล้ว 2 คน เหลือ 1 คนส่งให้สำนักนายกฯ ดำเนินการ ส่วนความผิดทางละเมิด มีมากกว่า 3 คน ต้องชดใช้เงิน โดยกระทรวงการคลังจะชี้ว่าใครบ้างต้องจ่ายเท่าใด ส่วนที่เหลือ ปปช. และ ปปง.อยู่ระหว่างตรวจสอบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ายกรัฐมนตรี ปัดดีล "เหมืองอัครา"ยันไม่ยกสมบัติชาติให้เอกชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง