บทวิเคราะห์ : ไพรมารี โหวต : หวังต่อไป ทาเคชิ

การเมือง
22 ก.พ. 65
13:44
229
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ไพรมารี โหวต : หวังต่อไป ทาเคชิ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

''ไพรมารี โหวต" คือ ขั้นตอนการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น ของพรรคการเมือง สำหรับส่งผู้สมัครเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ในประเทศที่การเมืองมีการพัฒนาแล้ว การคัดเลือกผู้สมัครจากสมาชิกในพื้นที่ ถือเป็นสิ่งเริ่มต้นที่สำคัญ

สำหรับประเทศไทย การปฏิรูปการเมือง เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมายาวนาน กระทั่งถึงการรัฐประหาร 2557 ก็ยังมีเสียงเรียกร้องจากผู้สนับสนุนบางส่วน ให้มีปฏิรูปการเมืองก่อน จึงค่อยจัดให้มีเลือกตั้ง แต่อีกบางส่วนเห็นว่าสามารถทำควบคู่กันไปได้

สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่ทำได้เพียงรับฟังการตอบโต้ไปมาระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับขั้วอำนาจใหม่ มีคำถามสำคัญเกี่ยวกับเรื่อง "ปฏิรูปการเมือง" ว่าอะไร จึงจะหมายถึงการปฏิรูปการเมืองที่ว่า

การหยิบยกคำว่า "ไพรมารี โหวต" จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของความหมาย 'การปฏิรูปการเมือง' จึงเริ่มพูดถึงมากขึ้น กระทั่งใน พรป.พรรคการเมือง ปี 2560 ที่ออกตามรัฐธรรมนูญ ปี 60

มีการระบุถึงวิธีการและรายละเอียดของ "ไพรมารี โหวต" ไว้ชัดเจน ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยต่างคาดหวังว่า การปฏิรูปการเมืองเบื้องต้น โดยประชาชนระดับรากหญ้า ที่จะมีส่วนกำหนดตั้งแต่ตัวผู้สมัครส.ส.กำลังจะได้เห็นเป็นจริงในไม่ช้า

พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 60 ระบุถึงความสำคัญและจำเป็นที่พรรคการเมืองต้องมีจัดตั้งสาขาพรรคในระดับภาคและจังหวัด รวมไปถึงในระดับเขต (หรือหากยังเป็นไปไม่ได้ ในระดับเขตเลือกตั้ง ต้องให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด)

มีข้อกำหนดถึงการมีส่วนของประชาชน ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ต้องจ่ายค่าสมาชิกให้กับพรรคการเมืองที่เข้าสังกัด ขณะเดียวกัน ได้กำหนดให้ก่อนส่งผู้สมัคร ส.ส. พรรคการเมืองต้องจัดเลือกตั้งหาผู้ลงสมัคร ส.ส.จากมติของสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เป็นเบื้องต้นก่อน

จากนั้นให้ส่งรายชื่อที่ได้เสียงสนับสนุนมากที่สุด 2 คนแรก (และ 15 คนแรก สำหรับส.ส.บัญชีรายชื่อ) ส่งให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรค เพื่อดำเนินการส่งเรื่องขออนุมัติต่อกรรมการบริหารพรรค ตามรายชื่อจากการทำไพรมารีโหวต

แต่ก่อนจะถึงเลือกตั้งจริง 24 มี.ค.2562 กลับปรากฏเสียงคัดค้านจากพรรคการเมือง โดยนักการเมืองระดับผู้บริหารพรรค รวมทั้ง 2 พรรคใหญ่ในกลุ่มอำนาจเก่า ส่งหนังสือคัดค้านไปยังกรรมาธิการ อ้างว่าจะก่อให้เกิดปัญหาและสร้างภาระเรื่องค่าใช้จ่ายให้กับพรรคการเมือง รวมถึงอาจมีการจับผิดฟ้องร้อง กระทั่งส่งผลเสียต่อพรรคการเมืองได้

คสช. ออกคำสั่งให้ยกเว้นการทำไพรมารี โหวต ในการเลือกตั้งปี 62 โดยอ้างพรรคการเมืองทำไม่ทัน ดับความฝันของประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่เฝ้ารอคอยจะเห็นการยกระดับพัฒนาการเมืองของประเทศ โดยเฉพาะการมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชน

เท่ากับ ให้กลับไปใช้วิธีการแบบเดิมๆ คือผู้มีอำนาจในพรรค เป็นผู้พิจารณาเลือกผู้สมัคร ส.ส.เช่นเดิม เพียงแต่ตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา เพื่อเป็นข้ออ้างในการเลือกตัวผู้สมัครส.ส.เพื่อให้ดูดี สอดรับสู่ยุคสมัยการปฏิรูป

นัยทางปฏิบัติ คือ ปิดประตูลั่นดาน การใช้ระบบ 'ไพรมารี โหวต' อีกอย่างน้อย 1 สมัยในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เนื่องจากร่างแก้ไขพรป.พรรคการเมือง ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา 24-25 ก.พ.นี้ จะไม่มี "ไพรมารี โหวต" ในรูปแบบและวิธีการที่ควรจะเป็น

โดยดูจากสาระในร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ทั้ง 6 ฉบับ ที่จ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ส่วนใหญ่ ระบุเพียงให้ใช้คนเพียง 100 คน ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครส.ส.ในจังหวัดนั้นๆ ให้ความเห็นชอบ

ในว่าที่ผู้สมัครส.ส.ทั้งจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเล็ก มีส.ส.ได้แค่ 1 คน หรือจังหวัดใหญ่มีส.ส. 10 คน หรือ 14 คน เท่ากับเป็นการใช้พิธีการดังกล่าว ทดแทน ''ไพรมารี โหวต" อย่างชอบธรรมสำหรับพรรคการเมือง ที่อ้างมาตลอดว่าทำเพื่อผลประโยขน์ประชาชนเป็นสำคัญ

ไม่สนใจความหวังหรือความฝันที่พังทลายย่อยยับของประขาชนในระดับรากหญ้าที่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมต่อไป

หวัง(สู้)ต่อไปนะ ทาเคชิ!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง