บทวิเคราะห์ : "สาธิต" นั่งปธ.กมธ. 2 กฎหมายลูกไม่ใช่บังเอิญ

การเมือง
2 มี.ค. 65
10:08
358
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : "สาธิต" นั่งปธ.กมธ. 2 กฎหมายลูกไม่ใช่บังเอิญ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน สำหรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ ของนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กมธ.สัดส่วนครม. จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่แซงโค้งเบียดเข้าเส้นชัย เอาชนะนายไพบูลย์ นิติตะวัน มือกฏหมายคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แบบเฉียดฉิว 22 ต่อ 21

นายสาธิตไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ยอมรับว่า ได้รับการทาบทามจากพรรคก้าวไกล

ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยะเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล จากพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมประชุมล่าช้า เพราะเครื่องบินดีเลย์ แต่ที่ประชุม กมธ.43 คน ก็เดินหน้าโหวตเลือกประธาน โดยไม่เลื่อน ไม่รอ

นายไพบูลย์ซึ่งเป็นขาประจำที่พรรคพปชร.และฝ่ายรัฐบาล มักเลือกให้เป็นประธานกมธ.และประธานกรรมการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับร่างกฏหมาย แม้แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับพรรค ได้รับเสียงสนับสนุนจากกมธ.สัดส่วนครม. สัดส่วนพรรค พปชร. และสัดส่วน ส.ว.เป็นหลัก

นายสาธิต ได้เสียงโหวตทั้งจากกมธ.ฝ่ายค้านทุกพรรค และยังได้เสียงจากกมธ.ปชป.และภูมิใจไทยด้วย หาไม่แล้ว ไม่มีทางเอาชนะนายไพบูลย์ได้

ที่น่าสนใจเช่นกัน คือคนที่เสนอชื่อนายสาธิต เป็นประธานแข่งกับนายไพบูลย์ ก็เป็นกมธ.สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย แต่สถานภาพปัจจุบัน ยังเป็นส.ส.พรรคก้าวไกล นายเกษมสันต์ มีทิพย์

ส่งผลให้เกิดอาการมึนงงสงสัย ทั้งกับนายไพบูลย์และกมธ.สัดส่วน ครม.และสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล แถมยังมีเอฟเฟ็คท์ไปถึงแถวๆ ทำเนียบรัฐบาลอีกต่างหาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลโหวตที่ออกมา สะท้อนการขาดเอกภาพในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างชัดแจ้ง

และเป็นสัญญาณเตือน สำหรับสาระในร่างกฎหมายลูกในชั้นกรรมาธิการที่ฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ไม่อาจคุมความได้เปรียบไว้ในมือได้ และจะส่งผลต่อการลงมติโหวตเสียงในบางประเด็นที่เกิดความเห็นต่าง และต้องตัดสินที่จำนวนเสียง

อีกด้านหนึ่ง ยังสามารถสะท้อนบทบาทของพรรคภูมิใจไทย ในการประสานและคุมคะแนนเสียงในสภาได้เด่นชัดมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้ว ได้แซงหน้าพรรคพปชร.ที่เป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลไปขั้นหนึ่งแล้ว

ส่งผลถึงการตีโจทย์ 260 เสียงที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้เคยแสดงโพยรายชื่อส.ส.สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อยู่ครบเทอม ท่ามกลางสถานการณ์ "สภาล่ม" ต่อเนื่อง ยิ่งมีข้อกังขาเป็นเงาตามตัว

260 ส.ส.นี้ คือเสียงค้ำเก้าอี้นายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ หรือจะเป็นเสียงที่พร้อมส่งเสริมสนับสนุนนายอนุทิน ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาล หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นก่อนครบวาระ 4 ปี และอาจมองข้ามไปถึงหลังการเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้า กันแน่

ต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ ในช่วงเวลานี้ หรือแม้แต่การเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็ยังต้องใช้มือส.ว. 250 คนช่วยสนับสนุนอยู่ดี

แม้ว่าในผลโพลล์สำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนิด้าโพล ปี 2564 ที่ทำเป็นรายไตรมาส พรรคภูมิใจไทย และหัวหน้าพรรคนายอนุทิน จะไม่ได้อยู่ในลำดับต้นๆ ที่ประชาชนจะเลือก

แต่สำหรับส.ส.และนักการเมือง กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือเลือกภูมิใจไทยในอันดับต้นๆ และมีส.ส.จำนวนไม่น้อยที่แสดงออกชัดเจนว่า ต้องการย้ายไปร่วมงานการเมืองด้วย

ไพ่ในมือของพรรคภูมิใจไทย ทั้งที่ได้เปิดแง้ม และที่ยังอยู่อยู่ในมือ จึงล้วนน่ากลัวทั้งสิ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง