ศธ.เอาจริง! ลดเอกสารวิทยฐานะ-คืนครูให้ห้องเรียน ดีเดย์ 1 ต.ค.65

สังคม
8 มี.ค. 65
19:10
5,291
Logo Thai PBS
ศธ.เอาจริง! ลดเอกสารวิทยฐานะ-คืนครูให้ห้องเรียน ดีเดย์ 1 ต.ค.65
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เดินหน้าลดภาระงานเอกสาร เปลี่ยนเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ วัดผลด้วยคลิปการสอนจากห้องเรียนจริง หวังคืนครูสู่ห้องเรียน ดีเดย์ 1 ต.ค.นี้

ลังกระดาษ - กล่องพลาสติกกองใหญ่ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนชั้น 6 ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) บรรจุเอกสารประเมินวิทยฐานะของครูระดับเชี่ยวชาญ ซึ่งได้จัดพิมพ์เอกสาร เข้าเล่ม เคลือบพลาสติก เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่น ก่อนส่งไปรษณีย์หรือขับรถมาส่งด้วยตัวเองเพื่อให้คณะกรรมการประเมิน สะท้อนหนึ่งในภาระงานด้านเอกสารที่ดึงครูในระบบต้องออกห่างจากห้องเรียนที่มีมานานหลายปี

 


รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การสอนในห้องเรียนและดูแลชีวิตลูกศิษย์คือภารกิจหลักของครู แต่ครูก็ได้รับมอบหมายงานที่เกินเลยหน้าที่ หากถามว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ก็ตอบได้ว่าอยู่ที่ผู้บังคับบัญชา ซึ่งบางคนอาจมีเจตนาดีอยากทำเรื่องนั้น หรือโครงการนี้ให้นักเรียน แต่งานก็ไปถมอยู่ที่ครู ทำให้ครูไม่ได้สอนหนังสืออย่างเดียว

ขณะที่การประเมินทุกอย่างก็เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการทำงานของครูทั้งหมด ทั้งการสอบของนักเรียนก็เป็นหน้าที่ครู ประเมินครู ก็เป็นหน้าที่ครู ประเมินโรงเรียน หรือประกวดแข่งขันต่าง ๆ ก็เป็นหน้าที่ครู ทำให้ครูต้องเอาเวลาสอนมาทำสิ่งเหล่านี้ หากจะแก้ไขก็จำเป็นต้องลดภาระเหล่านี้ให้มากที่สุด

การจะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จต้องเริ่มต้นที่ห้องเรียน ในไทยครูมีภาระเยอะมาก บางเรื่องเป็นงานที่ครูต้องทำทุกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เราจึงจะลดภาระงานและความซ้ำซ้อน

การเปลี่ยนระบบ ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ

ก.ค.ศ.ต้องการพลิกโฉมวิชาชีพครู โดยการเปลี่ยนระบบการประเมินการปฏิบัติงาน ซึ่งเชื่อมกับระบบวิทยฐานะ โดยทำให้เป็นการประเมินที่หน้างานจริง ๆ ประเมินห้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ครูบันทึกคลิปการสอนส่งไปยังระบบ เป็น Random systems ทำให้ครูไม่ต้องเข้าหากรรมการเพื่อหวังผลประเมิน เป็นการประเมินแบบไม่ต้องเผชิญหน้า ซึ่งจะทำให้ครูไม่ต้องกังวลเรื่องสะสมแฟ้ม หรือสะสมผลงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน และเชื่อมโยงกับการประเมินเงินเดือนด้วย

1 ปีที่ผ่านมา ก.ค.ศ.ได้เริ่มมาตรการ 5 คานงัด โดยเริ่มทำเกณฑ์เกลี่ยอัตรากำลังใหม่ ปรับมาตรฐานตำแหน่ง ปรับเกณฑ์ประเมิน ซึ่งครูทุกคนเข้าสู่การทำข้อตกลงพัฒนางานตั้งแต่ 1 ก.ย.2564 แล้ว และในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะดีเดย์เข้าสู่ระบบใหม่เต็มรูปแบบ

ปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่พลิกฝ่ามือ มันทับถมจนคุ้นชินกันมานาน การจะเปลี่ยนทุกคนทันทีเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลา ต้องเปลี่ยนระบบให้ได้ก่อน แล้วเปลี่ยนความคิดคนตามระบบที่ออกแบบใหม่


รศ.ดร.ประวิต ย้ำว่า ระบบการศึกษาไทยมีครูหลาย Generations ทั้งรุ่นอายุมาก Baby Boomer และ Generations X หรือ Y ซึ่งมีการเรียนรู้ด้านวิชาชีพแตกต่างกัน คนรุ่นใหม่เข้ามาก็มองระบบอีกแบบ ก.ค.ศ.จึงต้องวางระบบให้ครูทุกคนมีความสุข หากออกแบบ "ใช้เทคโนโลยีจ๋าไปเลย" คนรุ่นเก่าก็ตามไม่ทัน แต่หากยังย่ำอยู่กับที่ คนรุ่นใหม่ก็มองว่าระบบไม่พัฒนา "ซึ่งถือเป็นเรื่องยากมาก แต่เราก็พยายามพัฒนาให้ดีที่สุด"

เมื่อครูหลุดออกจากระบบ

ขณะที่ปัญหาครูหลุดออกจากระบบ รศ.ดร.ประวิต มองว่า ครูบางคนอาจอยู่ในภาวะหมดไฟ หลังจากอยู่มานาน จนทำให้หันไปสนใจประกอบอาชีพอื่น ครูบางส่วนก็ซึมซับวิธีการสอนแบบเดิมและคิดว่าวิธีนี้เหมาะสม ทำให้ไม่อยากปรับตัวหรือไล่ตามเด็กรุ่นใหม่ 


หากถามว่า ระบบทำให้ครูออกจากระบบไหม ต้องบอกว่า ระบบวิทยฐานะที่สะสมมานาน ทำให้งานสะสมกระดาษกลายเป็นภาระ ทั้งที่ครูควรสอนเก่งที่สุด แต่กลับต้องเอาเวลามานำเสนอผลงานและทำวิจัย จนทำให้ครูรู้สึกว่า ไม่อยากทำ ไม่อยากอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ครูหลุดจากระบบได้

ก.ค.ศ.พยายามเพิ่มครูให้โรงเรียนขนาดเล็ก ปรับมาตรฐานตำแหน่งใหม่ เพื่อให้ครูโฟกัสการสอนมากขึ้น เหมือนลักษณะงานต้องทำอะไรก็ทำอย่างนั้น ผอ.จะใช้งานนอกเหนือจากนั้นไม่ได้

รศ.ดร.ประวิต ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ในอนาคตการศึกษาไทย ครูจะได้ทำงานของครูจริง ๆ พัฒนาฝีมือการสอน เอาใจใส่เด็ก คลุกอยู่กับห้องเรียน และผู้อำนวยการต้องโฟกัสที่ผลงานครูในห้องเรียน เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศจะเข้ามาช่วยพัฒนาการสอนของครู ให้ความรับผิดชอบของทุกคนอยู่ที่การเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยคืนครูสู่ห้องเรียนได้จริง ๆ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รออีก 7 ปี น่าจะดีขึ้น ศธ.แก้ระบบ ลดภาระครู ไม่ต้องทำงานเอกสาร

โซเชียลแห่แชร์ "โปสเตอร์" ครูลาออก "อย่าให้งานเปลี่ยนเรา แต่เราควรเปลี่ยนงาน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง