วันนี้ (8 มี.ค.2565) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์ สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า บรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยกว่าร้อยละ 60 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NG) ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ ปัจจุบันน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามีภาระภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และ 0.64 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้กรมสรรพสามิตเห็นควรใช้มาตรการทางภาษีมาช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 15 ก.ย.2565 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับตัวลง
การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาค่าไฟมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิต เนื่องจากในสถานการณ์ปกติจะไม่มีการนำน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงไม่มีรายได้ภาษีสรรพสามิตในส่วนนี้
ครม.อนุมัติ กฟผ.กู้เงิน 2.5 หมื่นล้านชดเชยค่า Ft
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565-2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน
ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา กฟผ.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากแบกรับภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่า Ft ตามมาตรการของรัฐบาลในการตรึงค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
รวมถึงการผลิตไฟฟ้าในช่วงมาตรการตรึงค่าไฟฟ้านั้นมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ NGV ในประเทศ ทำให้ กฟผ.ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้น กฟผ.จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง
แท็กที่เกี่ยวข้อง: