ช้างป่า ช้างบ้าน ยังเผชิญวิกฤตโควิด แต่ยังหวังแสงสว่างปลายอุโมงค์​

ภูมิภาค
12 มี.ค. 65
10:08
403
Logo Thai PBS
ช้างป่า ช้างบ้าน ยังเผชิญวิกฤตโควิด  แต่ยังหวังแสงสว่างปลายอุโมงค์​
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายสถานการณ์ช้างในประเทศไทยเนื่องในโอกาสวันช้างไทย 13 มีนาคม 2565 ล่าสุดยังเผชิญวิกฤตโควิด-19

 

ช้างป่าที่พบเห็นตามข่าวเป็นประจำ คือ ความขัดแย้งระหว่างคน และช้าง โดยเฉพาะบริเวณผืนป่าตะวันออก รอยต่อ 5 จังหวัด ที่มีช้างออกมานอกพื้นที่ป่าไปกินพืชผลพืชไร่ของชาวบ้านมากขึ้น

มีการไล่ช้างให้กลับคืนสู่ป่า ช้างเองก็จะเกิดความเครียดว่า เขากินอยู่ แต่ทำไมถูกไล่ อาจปานปลาย ทำให้มีชาวบ้านยิงช้าง การวางยาช้าง หรือ มีการใช้บ่วงแร้วดัก

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ปี 2564 มีช้างป่าตาย 9 ตัว และ มีคนเสียชีวิตจากการถูกช้างทำร้าย 17 คน ซึ่งเป็นข้อมูลจากเพจเว็บไซต์ เสียงคนเสียงช้าง

เมื่อเทียบกับปี 2563 แล้ว พบว่าจำนวนทั้งช้างและคนที่เสียชีวิตจากปัญหาความขัดแย้ง สูงขึ้นเป็น 2 เท่า และมีแนวโน้มจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมธิการวิสามัญขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคน และช้างป่า

 

สำหรับข้อเสนอที่จะทำให้ปัญหาคลี่คลายลงก็คือต้องสร้างความรู้และความเข้าใจ โดยเฉพาะการให้การศึกษากับประชาชนว่า ช้างป่ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ลักษณะพฤติกรรมเป็นอย่างไร เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือให้คนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

 

ส่วนช้างบ้าน หรือ ช้างเลี้ยง ปัญหาที่ชัดเจนคือ ช้างในธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ตั้งแต่ประมาณเดือนมีนาคม 2563 จนใกล้จะถึงวันช้างไทยในปี 2565 ผ่านมาทั้งหมดใกล้จะ 2 ปีแล้ว นักท่องเที่ยวยังลดลง นักท่องเที่ยวต่างชาติแทบจะไม่มีเลย ปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว หลายปางปิดตัวลงไป จำนวนช้างในแต่ละปางก็ลดลงไปด้วย

ช้างเหล่านี้ต้องกลับบ้านเกิด ทั้งช้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งช้างของกลุ่มชาติพันธ์ในภาคเหนือ ก็นำช้างกลับไปอยู่ตามดอยต่างๆ

 

ผลการศึกษาของศูนย์วิจัยช้าง และสัตว์ป่าคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบผลกระทบที่ชัดเจนต่อตัวช้างอันดับแรก คือลักษณะของคะแนนร่างกายที่ลดลง

ช้างส่วนใหญ่มีสภาพร่างกายผอมลง จากช้างที่อ้วนๆ ก็ผอมลงอยู่กลางพอดี แต่ก็มีหลายเชือกที่พบว่าผอมลง จนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว การให้อาหารช้างก็ลดลง โดยเฉพาะอาหารที่เป็นอาหารเสริม เช่น กล้วย อ้อย ฟักทอง แตงโม แต่เนื่องจากอาหารประเภทนี้เป็นอาหารที่มีน้ำตาล ดังนั้นการลดลงกลับส่งผลดีต่อร่างกาย

อีกหนึ่งปัญหาคือควาญช้างลดลง ปกติทั่วไปก่อนที่จะเกิดปัญหาโควิด-19 ควาญช้าง 1 คน จะดูแลช้าง 1 เชือก แต่จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันควาญช้าง 1 คนจะดูแลช้างตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 5 เชือก

การดูแลเอาใจใส่และการพาช้างไปเดินลดลง หากมีแผล หรือ ตาเจ็บ ควาญช้างอาจไม่สามารถสังเกตเห็น ทำให้ช้างเกิดปัญหาสุขภาพตามมา

 

นอกจากนี้ช้างยังถูกผูกอยู่ในที่เดิมมากขึ้น จากปกติช้างจะออกไปทำงานออกไปมีกิจกรรมกับนักท่องเที่ยว อาจจะเดินไปไกล 5-10 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันช้างผูกอยู่เป็นหลักและรอเพียงการกินอาหาร เมื่อช้างไม่ได้ไปไหนก็เกิดความเครียด เบื่อหน่าย คำแนะนำคือควาญช้างควรพาช้างออกไปเดิน ออกไปทำงาน ออกไปในกิจกรรมต่างๆ

 

สำหรับสถานการณ์ที่ โรค covid 19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น การท่องเที่ยวและการเดินทางน่าจะเพิ่มมากขึ้น แต่นักวิชาการเชื่อว่า นักท่องเที่ยวจะเลือกท่องเที่ยวปางช้างที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปางช้างที่ดูแลช้างเป็นอย่างดี จัดการปางช้างอย่างมีมาตรฐาน ปางช้างจึงต้องปรับตัว ทำอย่างไรให้สุขภาพ และสวัสดิภาพช้างดีขึ้น

เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยว ก็น่าจะเปลี่ยนเป็นนักเที่ยวที่มีคุณภาพ มีกำลังจ่ายสูงขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งก็กลายเป็นความหวังว่าการท่องเที่ยวที่จะกลับมา จะมีจำนวนเม็ดเงินที่เพิ่มมากขึ้นด้วย และ รายได้ที่เพิ่มขึ้น ก็ควรจะย้อนกลับไปสู่ช้างและควาญช้างให้มีสวัสดิภาพดีขึ้นด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง