พบ “ก่อลูกเอียด” ไม้ต้นหายาก พืชชนิดใหม่ของโลก

Logo Thai PBS
พบ “ก่อลูกเอียด” ไม้ต้นหายาก พืชชนิดใหม่ของโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมวิจัยกรมอุทยานฯ คณะวนศาสตร์ มก.และอพวช. ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “ก่อลูกเอียด” พบแค่ 3 แห่งในไทย เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง และอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา

วันนี้ (25 มี.ค.2565) นายอรุณ สินบำรุง หัวหน้าสวนรุกขชาติเขาพุทธทอง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ทีมนักวิจัยกรมอุทยานฯ ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบ “ก่อลูกเอียด” ไม้ต้นหายาก พืชชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จ.ระนอง และอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา 

โดยได้รับการตั้งชื่อ และเขียนคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ ตามกฎนานาชาติของการกำหนดชื่อวิทยา ศาสตร์ของพืช (ICN) และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 541(1) หน้า 73-78 เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการร่วมตีพิมพ์โดยบุคลากรจาก 3 หน่วยงาน คือ นายอรุณ สินบำรุง และนายสุคิด เรืองเรื่อ กรมอุทยานฯ รศ.ดร.สราวุธ สังข์แก้ว จากคณะวนศาสตร์ มก.และ ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ จาก อพวช.

"ก่อลูกเอียด" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lithocarpus eiadthongii Sinbumr., Rueangr. & Sungkaew โดยคำระบุชนิด eiadthongii ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ.ดร.วิชาญ เอียดทอง อดีตอาจารย์ผู้ล่วงลับ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มก.  

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

สำหรับ ก่อลูกเอียด เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 18-35 เมตร ในเรือนยอดชั้นกลาง และชั้นรองเด่น ในป่าดิบชื้นที่ระดับความสูง 60-260 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มักพบตามไหล่เขา ลำต้นมักพบเป็นพูอน มีลักษณะเด่นที่ช่อผลค่อนข้างสั้น ยาว 4-10 ซม. ผลมีขนาดเล็ก ถ้วยผลมีก้านชูยาว 3-6 มม.เรียงเป็น 2-3 วงเห็นได้ชัดเจน ถ้วยผลเป็นลักษณะคล้ายวงแหวนเรียงกัน (5) 6-9 วงเห็นได้ชัดเจน ตัวผลเป็นรูปไข่กลับหรือรูปไข่ มีสัดส่วนของความยาวมากกว่าความกว้างอย่างชัดเจน

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

คำว่า “เอียด” เป็นภาษาทางภาคใต้ที่หมายความว่า มีขนาดเล็ก ซึ่งก่อลูกเอียดเป็นก่อที่มีผลขนาดเล็ก น่ารัก กระจุ๋มกระจิ๋ม และเป็นการสอดคล้องเหมาะสมกับนามสกุลของท่านอาจารย์วิชาญ เอียดทอง

นอกจากนี้ยังได้พบกลุ่มประชากรก่อลูกเอียด มีการกระจายพันธุ์ต่อเนื่องมาถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีพังงา อ.คุระบุรี จ.พังงา จึงถือว่าก่อลูกเอียดเป็นไม้ต้นหายากพบเฉพาะ จ.ระนอง และพังงา

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง