ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หลายองค์กรจับมือพัฒนาฝีมือแรงงาน เพิ่มศักยภาพหลังโควิดระบาด

สังคม
11 เม.ย. 65
15:51
332
Logo Thai PBS
หลายองค์กรจับมือพัฒนาฝีมือแรงงาน เพิ่มศักยภาพหลังโควิดระบาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำรวจทักษะ-ความพร้อมแรงงาน เดินหน้าพัฒนา-ฟื้นฟู หลังเสียโอกาสเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19

วันนี้ (11 เม.ย.2565) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดเวทีนโยบาย “โควิด-19: ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย”

พร้อม “การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment)” เพื่อร่วมกันหาแนวทางยกระดับทักษะแรงงาน และกำหนดนโยบายด้านการศึกษา ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน ในโลกยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน ให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

สร้างคนรับโลกเปลี่ยนหลังโควิด

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลกในมิติต่าง ๆ ที่กระทบต่อการปรับตัวของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ มีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น

สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงาน ที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้ ซึ่งการเรียนจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้งานตลอดชีวิต จึงไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบชีวิตสามช่วง (three-stage life) การศึกษา การทำงาน และการเกษียณ ไปสู่รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (multistage life)

 

ส่งผลให้คนต้องทำงานหลายอาชีพ รวมถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีระบบส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เอื้อให้คนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

การวิจัยนี้เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างกำลังคนในอนาคต เพราะโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากการถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยีและการแพร่ระบาดของโควิด

ข้อมูลต่าง ๆ จากการวิจัยจะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะผลลัพธ์ของงานวิจัยจะทำให้เราได้ทราบว่า จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประชากรไทยอย่างไร ให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ที่จะทำให้เขาสามารถอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 ได้ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการพัฒนากำลังคนของประเทศต่อไป

ยกระดับทักษะใหม่ แรงงานด้อยโอกาส

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน หากต้องการที่จะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง

รายงานของ World Economic Forum ในปี 2019 สะท้อนว่าไทยมีสัดส่วนของแรงงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 ซึ่งอยู่ในอันดับ 86 จาก 141 ประเทศ

นอกจากนี้การสำรวจสถิติแรงงานในประเทศ พบว่า ร้อยละ 70 ของประชากรวัยแรงงานมีระดับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา ซึ่งผลกระทบของตลาดแรงงานช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น

 

เพราะขณะที่แรงงานกลุ่มทักษะชั้นสูงหรือคนที่ปรับตัวได้เร็ว ยังได้รับประโยชน์จากการทำงาน การใช้เทคโนโลยี และการสร้างอาชีพใหม่ภายใต้วิกฤต ในทางกลับกัน แรงงานไร้ฝีมือ ผู้ที่ขาดทักษะด้านเทคโนโลยี ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ กลายเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง

ข้อมูลจากงานวิจัยและความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะเป็นเครื่องมือชี้เป้าและความต้องการ และนำผลจากการวิเคราะห์วิจัยและการพัฒนาต้นแบบไปสู่ระดับนโยบายเพื่อขยายผลในระดับประเทศ หากทำได้สำเร็จแรงงานในประเทศไทยก็จะได้รับการพัฒนากลายเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

วันข้างหน้าประชากรไทย ก็จะมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดปัญหาความยากจนข้ามรุ่น ช่วยให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างได้อีกด้วย

ดร.ประสารกล่าวว่า หนึ่งในแนวทางการทำงานของ กสศ. ที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายของประชากรในวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส คือการสนับสนุนกระบวนการของการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) การยกระดับทักษะ (Upskill) และการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ให้แก่ผู้ที่อยู่นอกระบบ รวมถึงแรงงานด้อยโอกาสและแรงงานนอกระบบ ที่มีอยู่ถึง 20 ล้านคนในประเทศ ผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ

เช่น การพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อให้กลุ่มแรงงานด้อยโอกาสและขาดทักษะของประเทศไทย สามารถพัฒนาทักษะของตนให้ก้าวไปสู่ความเป็นแรงงานมีฝีมือ ในปี 2564

 

ด้าน Ms.Brigit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย และภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุข ฯลฯ โดยมีข้อบ่งชี้จากการสร้างงาน การแก้ปัญหาความยากจน รวมไปถึงการลดของปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัล และสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทั้งหมดในเรื่องของตลาดแรงงานทั่วโลก

ดังนั้นถ้าเรารู้ได้ว่า คุณสมบัติและทักษะอะไร ที่จะทำให้คนในวัยแรงงาน สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยนี้ จะนำไปสู่การออกแบบนโยบายในการพัฒนา และเติมเต็มทักษะแรงงาน รวมไปถึงการกำหนดนโยบาย เพื่อบ่มเพาะทักษะฝีมือให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่ Mr.Toby Linden ผู้จัดการด้านการพัฒนาการศึกษา ธนาคารโลก กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การพัฒนาเยาวชนให้มีความสามารถ ที่จะรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการเกิดขึ้นของโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานแล้ว ยังส่งผลไปถึงโอกาสทางการศึกษา โดยพบว่าเด็ก ๆ สูญเสียโอกาสการเรียนรู้ไปถึง 1.2 ปี จากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับโครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงาน เกิดขึ้นมาจากโจทย์ที่ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานเยาวชนนอกระบบมากถึง 20 ล้านคน เป็นกลุ่มเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาถึง 1.3 ล้านคน และร้อยละ 74 ของแรงงานทั้งระบบ หรือ 14.5 ล้านคนของแรงงานไทย มีวุฒิต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการยกระดับทักษะและการศึกษา ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง