ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลสั่งถอนระเบียบฯ แล้ว ให้นักเรียนแต่งกายตามศาสนาอิสลามได้

สังคม
23 เม.ย. 65
19:21
879
Logo Thai PBS
ศาลสั่งถอนระเบียบฯ แล้ว ให้นักเรียนแต่งกายตามศาสนาอิสลามได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลปกครองยะลาสั่งเพิกถอนระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ที่เคยห้ามนักเรียนแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม สามารถแต่งกายได้ ผู้ปกครองระบุอยากให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง เพื่อให้เข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน อย่าผลักเด็กออกจากระบบการศึกษา

หนึ่งในเหตุผลที่ศาลปกครองยะลา ระบุในคำพิพากษา เพิกถอนระเบียบโรงเรียนอนุบาลปัตตานี

เรื่องการแต่งกายของนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม ให้แต่งกายได้ คือ รายละเอียดในหนังสือสัญญายืมที่ดิน ของวัดนพวงศาราม ที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ที่กำหนดให้เจ้าอาวาสมีอำนาจในการสอดส่องดูแลให้เป็นตามกฎ

ศาลพิจารณาว่า อำนาจนั้นไม่ได้รวมถึงอำนาจการห้ามนักเรียนแต่งกายตามหลักการศาสนาอิสลามที่นับถือ และการตีความเช่นนั้นก็เป็นการตีความที่เกินเลย พร้อมยกตัวอย่างโรงเรียนอีกหลายแห่งที่อนุญาตให้เด็กผู้หญิงคลุมผ้าคลุมฮิญาบ และเด็กผู้ชายสวมกางเกงขายาวตามหลักศาสนา

กว่า 4 ปี ที่ครอบครัวเหมมินทร์ต่อสู้ทางกฎหมาย หลังยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อลูกๆ ของพวกเขา 3 คน ตัดสินใจสวมผ้าคลุมไปเรียนหนังสือ แต่โรงเรียนแจ้งว่า จำเป็นต้องยึดตามระเบียบการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียน ปี 2561 ฉบับใหม่ที่เพิ่งแก้ไข

โดยระบุว่า สถานศึกษาที่ขอใช้พื้นที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์ เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา การแต่งเครื่องแบบนักเรียนให้เป็นไปตามสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา “ทำให้นักเรียนไม่สามารถคลุมอิญาบได้” ทำให้ลูกๆ ถูกตัดคะแนนความประพฤติ จนนำมาซึ่งการฟ้องร้องของผู้ปกครองเกือบ 20 คน

นายอรุณ เหมมินทร์ หนึ่งในบิดาของนักเรียน ที่ยื่นฟ้องครั้งนี้ระบุว่า การต่อสู้ครั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกและเด็ก ๆ ได้รับสิทธิในการปฏิบัติการตามหลักการศาสนา และต้องขอบคุณเจ้าอาวาส และโรงเรียนเพราะหากปลดล็อกเรื่องนี้ได้ ก็จะเป็นการให้โอกาสเด็ก ๆ หลายคนที่ต้องการเข้าถึงสิทธิในการศึกษาได้มากขึ้น

“เด็กหลายคนสวมผ้าคลุมมาถึงโรงเรียนก็ต้องถอดแบบจำใจ เมื่อเรียนถึงชั้น ป.5 ต้องออกจากโรงเรียน ทำให้เด็กขาดหายด้านการศึกษา ถ้าวันนี้ศาลไม่ตัดสินแบบนี้ เด็กจำนวนไม่น้อย ที่ถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในป่าเหมือนเดิม” นายอรุณกล่าว

การให้เด็กไทยพุทธ และเด็กมุสลิมได้เรียนโรงเรียนเดียวกัน ได้อยู่ร่วมกัน เขาจะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่าง และความเชื่อของกันและกัน ได้เข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน เราไม่ได้ต้องการแพ้ หรือชนะ แต่เราอยากให้ยอมรับในความแตกต่าง เอาใจเขามาใส่ใจเรา

นางกดาเรีย เหมมินทร์ กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีนี้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างกว้างขว้าง ทั้งในกลุ่มไทยพุทธและมุสลิมตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และมีการแสดงออกทั้งการประท้วง และการวิพากวิจารณ์ตอบโต้ไปมาจากผู้คิดต่างทั้ง 2 ฝ่าย

แต่นางอัศรา รัฐการัณย์ หนึ่งในผู้ที่เคลื่อนไหว และร่วมต่อสู้กับกลุ่มผู้ปกครองในเรื่องนี้ ระบุว่า อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับในความแตกต่าง และสิทธิที่เท่าเทียม

“พี่เป็นคนที่นี่ เกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ พี่เห็นวัฒนธรรมของคนไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีน คนมุสลิม มันมีความงดงาม เราทุกคนรู้ว่า เราอยู่ด้วยกันได้บนความแตกต่างนี้ และเราก็ยังเคารพซึ่งกันและกัน วันนี้ไม่มีคนแพ้คนชนะ แต่เราอยากให้รู้ว่ามันมีความงดงามท่ามกลางความแตกต่าง และเราก็ต้องขอบคุณเพื่อนชาวไทยพุทธหลายคนที่เข้าใจมาสอบถามเราถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้อธิบายในสิ่งที่เราจำเป็นต้องต่อสู้”

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นเรื่องดังกล่าว ผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาแล้ว และได้ให้ความเห็นกลับไปว่า

การใช้กฎหมายเข้ามาตัดสินความขัดแย้งในมิติของศาสนา เป็นการใช้พลังแข็ง หรือHard power ซึ่งอยากให้ใช้พลังอ่อน หรือ Soft power เพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นที่อ่อนไหวมากกว่า

 

เพราะตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ ก็มีโอกาสสูงอยู่แล้ว ที่จะชนะคดี เพราะกฎหมายคุ้มครองและไม่ได้ปิดกั้นการปฏิบัติตามหลักศาสนา แต่การใช้ Hard power ก็อาจทำให้เกิดความอ่อนไหวในพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ระหว่างการพูดคุยสันติสุข และมีข้อตกลงร่วมกัน

จริง ๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มักมีประเด็นขัดแย้งในลักษณะนี้บ่อย เช่น ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ก็มีกลุ่มคนไทยพุทธที่เรียกร้องให้ทางโรงพยาบาลจัดทำครัว ที่ทำอาหารเพื่อคนไทยพุทธบ้าง แทนการออกประกาศให้ทำเฉพาะครัวฮาลาล คนไทยพุทธหรือผู้ป่วยเขาก็มีสิทธิที่จะเรียกร้อง แม้ว่าเรื่องนี้จะยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติก็ตาม

จึงอยากให้เรื่องข้อขัดแย้งในประเด็นที่อ่อนไหว ความเชื่อ หรือ ความศรัทธา หากมีการพูดคุย เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ มันจะทำให้เกิดความเข้าใจกันและกันมากขึ้น

นอกจากนี้ นางอังคณายังแสดงความกังวลว่า หากทางโรงเรียนยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลก็อาจทำให้เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง และอาจถูกยุยงปลุกปั่น จากผู้ที่ต้องการเห็นความแตกแยก จนทำให้กระบวนการสันติภาพช้าลง

ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้ เรียบเรียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง