นักวิชาการแนะจับตา "ฟรีสปีช" หลังอีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์

Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะจับตา "ฟรีสปีช" หลังอีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการแสดงความกังวลเกี่ยวกับอิสระภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีของทวิตเตอร์ ภายใต้การดูแลของ อีลอน มัสก์ โดยระบุว่าหลังจากนี้ต้องจับตาแนวทางของอีลอน มัสก์เป็นพิเศษ รวมทั้งถามหาความชัดเจนของหน่วยงานไทย ในการคุ้มครองผู้ใช้โซเชียลมีเดีย

วันนี้ (26 เม.ย.2565) ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แสดงความคิดเห็นกรณี บริษัท ทวิตเตอร์ ตอบตกลงรับข้อเสนอซื้อกิจการของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยเม็ดเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ผ่านรายการ Newsroom Daily รายการทางออนไลน์ของไทยพีบีเอสว่า หลังจากนี้ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะจนถึงตอนนี้มีหลายคำถามที่อยากให้ อีลอน มัสก์ ตอบ เช่น เรื่องฟรีสปีช

ต้องจับตามองว่า ฟรีสปีช ในความคิดและความหมายของอีลอน มัสก์ เป็นอย่างไร

ขณะเดียวกันต้องจับตาเรื่อง โอเพนซอร์ส (Opensource) ว่าจะเป็นทิศทางของโซเชียลมีเดียในอนาคตได้หรือไม่ เพราะโอเพนซอร์ส คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานเห็นโค้ด เห็นอัลกอริทึมได้ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือปรับปรุงการให้ดีขึ้นได้

ไม่รู้ว่าโอเพนซอร์สของอีลอน มัสก์ ที่อยากให้ทวิตเตอร์เป็น จะหน้าตาเป็นอย่างไร จะกระทบกับการใช้งานอย่างไร

ผศ.สกุลศรี ระบุว่า ทุกวันนี้คนใช้โซเชียลมีเดียรู้เทคนิควิธีในการใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ และเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถกำหนดความคิดของคนได้ สามารถทำให้คนเชื่อในบางเรื่องได้ ซึ่งความรอบรู้ในด้านเทคนิคต่าง ๆ จึงเป็นดาบอีกคมที่น่ากลัวและอันตราย ดังนั้น การกับกำดูแล การคัดกรองมาตรฐานบางอย่างยังจำเป็นมาก ๆ เพื่อไม่ให้พื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ถูกใช้ไปในทางที่ผิดที่ไม่ดี

อยากให้เป็นพื้นที่เสรีที่มีประโยชน์ จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้น ทุกคนพยายามหาคำตอบอยู่เช่นกัน

อีกเรื่องที่น่ากังวลคือ การนำข้อมูลของผู้ใช้โซเชียลมีเดียไปใช้ประโยชน์ การที่สื่อโซเชียลมีเดียไปอยู่ในมือนักธุรกิจรายใหญ่รายเดียว เขาจะนำข้อมูลไปใช้ในธุรกิจอื่น ๆ หรือไม่ เพราะโซเชียลมีเดียมีข้อมูลของผู้ใช้จำนวนมาก เขาสามารถใช้ข้อมูลเราได้ แต่เราจะปกป้องข้อมูลตัวเองได้อย่างไร

ยุคนี้เป็นยุคที่สงครามธุรกิจสู้กันด้วยข้อมูล ดังนั้นเขาสามารถใช้ข้อมูลของเราได้ เขาจะมีกฎเกณฑ์ในการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลอย่างไร ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเลย

ผศ.สกุลศรี กล่าวว่า หลังจากนี้ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ต้องมีความรู้ความเข้าใจพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ให้มากขึ้น ว่าเราสามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของเราได้มากขนาดไหน และที่สำคัญประเทศไทย ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย เป็นหน่วยงานรองรับและคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดูแลประชาชน

ในอนาคตการละเมิดจะมีมากขึ้นในหลายรูปแบบ ถ้าไม่มีหน่วยงานดูแลที่ชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียก็จะไม่รู้ว่าต้องไปหาใครเพื่อให้ช่วยเหลือ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Twitter รับข้อเสนอ "อีลอน มัสก์" เข้าซื้อกิจการ

จับตา! Twitter พัฒนาฟีเจอร์ “แก้ไขข้อความ” ผู้ใช้อาจดูประวัติแก้ไขได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง