แนะเพิ่มตัวแทน "อัยการ-ศาล-ประชาชน" ร่วมพิจารณาขออภัยโทษ -ลดโทษ

สังคม
27 พ.ค. 65
14:29
466
Logo Thai PBS
แนะเพิ่มตัวแทน "อัยการ-ศาล-ประชาชน" ร่วมพิจารณาขออภัยโทษ -ลดโทษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักศึกษาวิทยาลัยทนายความ แนะเพิ่มตัวแทนจาก ศาล อัยการ และ ประชาชน ร่วมพิจารณาขอพระราชทานอภัยโทษ-ลดโทษเพื่อความเหมาะสม พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับความผิดคดีทุจริต คดีร้ายแรง เพื่อไม่ให้การขอรับพระราชทานอภัยโทษถูกใช้เป็นเครื่องมือ

วันนี้ (27 พ.ค.2565) นักศึกษาวิทยาลัยทนายความ หลักสูตร “การบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง” รุ่นที่ 1 นำเสนอเอกสารวิชาการทางด้านกฎหมาย ใน หัวข้อ "การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการขอรับพระราชทานอภัยโทษและลดโทษ" นำเสนอโดย รศ.ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร , น.ส.นาตยา เชษฐโชติรส และ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา นำเสนอ

รศ.ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร กล่าวว่า การอภัยโทษเป็นวิธีการสำคัญวิธีหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อแก้ไข ฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ให้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดี และกลับคืนสู่สังคมได้ก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องรับโทษ นอกจากนี้การอภัยโทษยังมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และบรรเทาความรุนแรงของการลงโทษตามคำพิพากษาของศาล 

ทั้งนี้ การอภัยโทษของประเทศไทยถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ได้มีการสืบทอดกันมาเป็นโบราณราชประเพณี เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญของประเทศไทยเกือบทุกฉบับจึงได้บัญญัติรองรับพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษว่า เป็นพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงใช้ผ่านทางฝ่ายบริหาร

การพระราชทานอภัยโทษกระทำโดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัว การลดโทษ การไม่ได้รับการอภัยโทษ และความผิดที่จะได้รับการอภัยโทษ ซึ่งกำหนดไว้ใน 10 ฐานความผิด 

 

สำหรับผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษ หรือ การลดโทษตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้นจะต้องไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษและลดโทษไว้ ตามลำดับชั้นของนักโทษซึ่งจะแตกต่างกัน

จากการศึกษาในหัวข้อดังกล่าว พบว่า ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการขอรับพระราชทานอภัยโทษและลดโทษ มีดังนี้ ปัญหาองค์ประกอบของผู้มีอำนาจในการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุก,ปัญหาหลักเกณฑ์ฐานความผิดในการพิจารณาบุคคลซึ่งควรได้รับการพิจารณาได้รับการอภัยโทษ,ปัญหาในเรื่องของทัศนคติและความประพฤติในการพิจารณาจัดชั้นนักโทษ เป็นต้น

รศ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันจะพิจารณาขอพระราชทานอภัยโทษจะพิจารณาเพียงความประพฤติ ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาทัศนคติมาประกอบในการจัดชั้นนักโทษด้วย 

จากนั้นในการพิจารณาเสนอชื่อขอพระราชทานอภัยโทษคณะกรรมการดังกล่าว คณะผู้ทำการศึกษาเสนอว่า ควรให้มีอัยการและศาลร่วมด้วย จากเดิมที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์แต่งตั้งข้าราชการระดับไม่ต่ำกว่าผู้เชี่ยวชาญ 3 คนเท่านั้น ซึ่งควรจะมีศาลเพราะเป็นผู้ตัดสิน ควรมีอัยการเพราะเป็นผู้สั่งฟ้อง และภาคประชาชน ซึ่งควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนด้วย

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ เปิดเผยว่า คณะผู้ศึกษาได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้ 

1.การเสนอขอพระราชทานอภัยโทษ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมเป็นเป้าหมายสูงสุด โดยจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้กระทำผิดล้วนเคยมีประวัติในการกระทำความผิดทางคดีอาญามาก่อน และมีการกระทำผิดซ้ำซาก

2.การขอรับพระราชทานอภัยโทษ ควรมีคณะกรรมการร่วมจากภายนอกร่วมพิจารณาด้วยเช่น อัยการ ศาล ตัวแทนจากภาคประชาชน รวมถึงนักอาชญาวิทยาร่วมด้วย เพื่อประเมินว่า เมื่อถูกปล่อยตัวจะเป็นภัยต่อสังคมหรือไม่

3.การจำกัดการขอรับพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในบางฐานความผิด เช่น การจำหน่ายยาเสพติด 

4.ให้อัยการและศาลมีส่วนร่วมในการประเมินการจัดชั้นนักโทษ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการลดโทษ 

5.ควรกำหนดหลักเกณฑ์ของกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเพื่อให้กระบวนการแก้ไขฟื้นฟูสามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายที่บัญญัติไว้และเพื่อให้ผู้กระทำความผิดให้กลับตนเป็นคนดีหลังจากที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแล้ว

6.การขอรับพระราชทานอภัยโทษสมควรกำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับฐานความผิดทุจริตและประพฤติมิชอบ คดีร้ายแรงที่สะเทือนขวัญของประชาชน หรือ เป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ เพื่อให้กระบวนการขอรับพระราชทานอภัยโทษและลดโทษไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ต้องโทษอย่างเลือกปฏิบัติที่อาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริต

7.การจำแนกนักโทษเข้าใหม่ที่มีการกระทำผิดที่รุนแรง หรือ ความผิดที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ควรจัดให้อยู่ต่ำกว่า "ชั้นกลาง" และกำหนดให้มีระยะเวลาขั้นต่ำในการคุมขัง

คดีเลือกตั้งมีคนที่รับเงินซื้อเสียง รับสารภาพกับตำรวจว่ารับเงินจากผู้สมัครรายหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานที่จะให้ใบแดงกับผู้สมัครคนดังกล่าว และยอมติดคุก โดยผู้ว่าจ้างสัญญาว่าจะดูแลครอบครัวและได้รับการขออภัยโทษ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเชื่อว่าในคดีอาญาทั่วไปก็อาจจะมีการวางแผนลักษณะนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง