แนะช่วยอย่างไร? เมื่อพบผู้ป่วยกำลังชัก

สังคม
13 มิ.ย. 65
16:00
474
Logo Thai PBS
แนะช่วยอย่างไร? เมื่อพบผู้ป่วยกำลังชัก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เผย “โรคลมชัก” หรือ “โรคลมบ้าหมู” อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ไม่สามารถควบคุมร่างกาย หรือระมัดระวังตนเองได้ แนะช่วยเหลือเบื้องต้น “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย”

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้โพสต์คลิปชายหนุ่มเกิดอาการชักเกร็งผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคลมชัก เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อเนื้อสมองสามารถทำให้เกิดอาการชักได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด หรือโดยพันธุกรรม เช่น เนื้อสมองเจริญเติบโตผิดปกติ สารเคมีในสมองผิดปกติ พันธุกรรมผิดปกติ หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ความผิดปกติต่อสมองระหว่างตั้งครรภ์ ความผิดปกติต่อสมองระหว่างคลอด อุบัติเหตุทางศีรษะ การติดเชื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักนั้น มีหลากหลายและพบต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะได้พบเห็นผู้ป่วย หรือพบคนที่กำลังมีอาการชักได้ทั่วไปในสังคม ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคลมชักมากกว่า 500,000 คน และมากกว่า 50,000,000 คนทั่วโลก

ขณะที่ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคลมชักที่คนทั่วไปรู้จักดีที่สุด คือ อาการเกร็งกระตุกทั้งตัว แต่อาการชักมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นกับตำแหน่งของเนื้อสมองที่ผิดปกติ บางคนอาจจะมีอาการเหม่อนิ่ง กระพริบตาถี่ ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ บางคนมีอาการเคี้ยวปาก แลบลิ้น ทำปากขมุบขมิบ ขยำมือ ตาเหลือก คอบิด แขนหรือขาเกร็งหรือกระตุกซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย บางครั้งอาจจะมีเสียงพูดแปลก ๆ มีอาการตัวอ่อนล้มลงไป มีอาการใจสั่น มีอาการขนลุก

อย่างไรก็ตาม อาการทุกรูปแบบของลมชัก เกินกว่าร้อยละ 90 จะหยุดเองได้ในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที ซึ่งอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยขณะมีอาการชัก ไม่ใช่จากอาการของโรคลมชักเองโดยตรง แต่จะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะที่มีอาการมากกว่า เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่สามารถควบคุมร่างกาย หรือระมัดระวังตนเองได้ ทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง ตกคูคลองหนองน้ำ อุบัติเหตุจากการใช้ยานพาหนะ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือถูกของมีคมบาด ทิ่ม ตำ

ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา แนะนำว่า ผู้เห็นเหตุการณ์ควรคอยช่วยเหลือดูแลให้คนไข้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึงไม่งัด ไม่ง้าง ขณะที่คนไข้ชัก จึงเป็นที่มาของการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการชัก ว่า “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย” หากเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการชักนานเกินกว่า 5 นาที ได้รับบาดเจ็บจากอาการชัก เป็นการชักครั้งแรกในชีวิต หรือมีอาการชักซ้ำหลายรอบ สามารถโทรแจ้ง 1669 สายด่วนฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเหตุและขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง